ยะลาโมเดล พาน้องกลับโรงเรียนกันเถอะ

 22 มี.ค. 2565 21:55 น. | อ่าน 5999
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ความเสมอภาคเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมทุกระดับ เพราะหากเกิดความไม่เสมอภาคขึ้นมาแล้วสิ่งที่ตามมาก็คือ ความเหลื่อมล้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ย่อมมีคนที่ได้รับโอกาส และคนที่ไม่ได้รับโอกาส

          ความเหลื่อมล้ำนั้น มีหลายด้าน อาทิ ด้านรายได้ ด้านการเมือง ด้านการใช้ชีวิต ด้านการเข้าถึงทรัพยากร และอื่น ๆ อีกหลายด้าน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำอีกด้านหนึ่ง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด นั่นก็คือ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

          ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย หากความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ลดลง ก็จะส่งผลเสียกับการสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ ซึ่งผลที่ตามมา ก็คือ ประเทศจะเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ

          ล่าสุดจากการสำรวจจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ประสบปัญหาการเรียนในช่วงโควิด-19 จากสาเหตุไม่มีไฟฟ้า และอุปกรณ์ พบว่ามีนักเรียนที่ประสบปัญหาถึงร้อยละ 87.9 หรือ 271,888 คน โดยจังหวัดที่พบปัญหามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ตาก นครราชสีมา และยะลา ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะประสบปัญหาในแต่ละด้านที่มีความแตกต่างกันไป

          นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ดำรงอยู่ในสังคม ซึ่งจะทำให้เด็ก และเยาวชนจำนวนมากต้องขาดโอกาสทางการศึกษา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่สำคัญทั้งในระยะสั้น และระยะยาว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อพา “น้องกลับโรงเรียน”

ความเหลื่อมล้ำที่ถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด

          เป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยนั้น มีมาอย่างยาวนาน และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แม้หน่วยงานต่าง ๆ จะร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือให้เด็ก และเยาวชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เพื่อลดปัญหาดังกล่าว แต่สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบให้จำนวนของเด็กนักเรียนมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายครัวเรือนต้องประสบภาวะตกงานอย่างเฉียบพลัน รายได้ที่ลดลงทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระด้านการศึกษาได้ โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สำรวจสถานการณ์ของเด็กยากจน และเด็กยากจนพิเศษในปีการศึกษา 1/2564 พบว่ามีจำนวนรวมกว่า 1.9 ล้านคน จากจำนวนเด็กในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับ 9 ล้านคน

พาน้องกลับโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

          การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ดำรงอยู่ และเพิ่มพูนขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด โดยเฉพาอย่างยิ่งใน 29 จังหวัด ที่มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษ ซึ่งนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบปัญหามากที่สุด 5 อันดับแรก มี 3 จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

          จากปัญหาดังกล่าว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ริเริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า “พาน้องกลับโรงเรียนกันเถอะ” ภายใต้ “โครงการการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” ด้วยการใช้   การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education) ซึ่งเป็นวิธีที่อาศัยการประสานความร่วมมือในการทำงานกับหน่วยงาน และภาคีในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา องค์กรภาคเอกชน ประชาสังคม รวมทั้งประชาชนในท้องถิ่น เพราะคนในพื้นที่ย่อมที่จะมีความรู้ และความเข้าใจถึงปัญหามากกว่าหน่วยงานจากส่วนกลาง และสามารถร่วมกันสร้างกลไกในการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่

ยะลาโมเดล หนึ่งในต้นแบบ “พาน้องกลับโรงเรียน”

          จากการดำเนินการ “โครงการการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” อย่างเข้มข้นในจังหวัดนำร่อง 20 จังหวัด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้คัดเลือกจังหวัดที่มีการดำเนินการที่ยอดเยี่ยม และสามารถนำมาเป็นต้นแบบ หรือโมเดล จำนวน 3 โมเดล ได้แก่ พิษณุโลกโมเดล, สมุทรสาครโมเดล และ ยะลาโมเดล โดยจังหวัดยะลานั้น เป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็น หนึ่ง ใน ห้า ของจังหวัดที่มีนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบปัญหามากที่สุดของประเทศ

          สำหรับ “ยะลาโมเดล” เป็นโมเดลที่บูรณาการความเชี่ยวชาญของทีมสหวิชาชีพ ภายใต้ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) เริ่มจาก “ค้นหาเด็กยากจนพิเศษให้เจอ” 2) ต่อจากนั้นจะเป็นการ “ปรับ Mindset ครอบครัว” เพื่อให้ครอบครัวของเด็กมองเห็นความสำคัญของการศึกษา และ 3) สำรวจว่าปัญหาที่ทำให้เด็กไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาคืออะไร เช่น ปัญหารายได้ครอบครัว ปัญหาสุขภาพ และปัญหาอื่น ๆ เป็นต้น

          การดำเนินการเชิงบูรณาการภายใต้ 3 ขั้นตอน ของ “ยะลาโมเดล” จะต้องยึด “เด็ก” เป็นตัวตั้ง เพื่อช่วยให้ “เด็ก” ได้กลับเข้าเรียน หรือ ได้รับโอกาสทางการศึกษา

จาก “ยะลาโมเดล” ไปสู่ สภาการศึกษา และกองทุนเพื่อโอกาสทางการศึกษาฯ

          ยะลาโมเดล เพื่อการ “พาน้องกลับโรงเรียน” ส่งผลให้เกิดการหลอมรวมความร่วมมือ ร่วมใจของบุคลากรในทุกหน่วย ทุกสังกัด และทุกพื้นที่ จนนำไปสู่ การจัดตั้ง “สภาการศึกษาจังหวัด” และ “กองทุนเพื่อโอกาสทางการศึกษาเพื่อเด็ก และเยาวชนยะลา” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้กับเด็ก และเยาวชน ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป

          ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน การจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร รวมไปถึงครอบครัวของเด็ก และเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำ

          ความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของ “ยะลาโมเดล” สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการในการลดความเหลื่อมล้ำทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ที่จะทำให้จังหวัดยะลามีเด็ก และเยาวชนที่ได้รับการโอกาสทางการศึกษา เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาจังหวัดยะลาในอนาคตต่อไป

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.