
ให้ท่านลองจินตนาการว่า ตัวท่านเองกำลังอยู่ในส่วนลึกของถ้ำแห่งหนึ่ง แน่นอนที่สุดในส่วนลึกของถ้ำนั้นย่อม มืดมิด ไร้ซึ่งแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้สภาพจิตใจของท่าน เกิดความหวาดกลัว และความวิตกกังวล ไม่มากก็น้อย และการที่จะขจัดความหวาดกลัว และความวิตกกังวล เหล่านั้นออกไปจากจิตใจ ท่านจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกจากความมืดมิดนั้น และทันทีที่ท่านได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ความหวาดกลัว และความวิตกกังวล ย่อมสูญมลายหายไป ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือความหวังในการที่จะออกจากห้วงแห่งความมืดมิดได้ เมื่อมีความหวังเกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดความปิติยินดีมองเห็นอนาคตสดใสที่จะตามมา
ความมืดมิดในถ้ำนั้น สามารถอุปมาอุปไมยได้กับ “ปัญหา” ที่สังคม ๆ หนึ่ง ต้องประสบ และยังหาทางแก้ไขไม่ได้ อย่างทันทีทันใด ที่ได้ค้นพบหนทางในการแก้ไขปัญหานั้น ก็สามารถอุปมาอุปไมยได้กับ “การได้เห็นแสงสว่าง ที่ปลายอุโมงค์” นั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำรงอยู่มากว่าสองทศวรรษนั้น ก็เปรียบได้กับการที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องต่างติดอยู่ในความมืดมิดของถ้ำแห่งความขัดแย้ง จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ค้นพบวิธีการออกจาก “ถ้ำแห่งความขัดแย้ง” นั่นคือ “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเปรียบได้ดั่ง “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ณ ปากถ้ำแห่งความขัดแย้ง” และหากผู้คนที่เกี่ยวข้องเดินตามแสงนั้นไป ในที่สุดก็จะได้พบ “นกพิราบแห่งสันติสุข” ที่กำลังโบยบินอยู่ที่ปากถ้ำ หรือ ความสันติสุขอย่างยั่งยืนนั่นเอง
การก่อร่างสร้างพาหนะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อโลดเล่นบนเส้นทางแสงสว่างสู่สันติสุขนั้น เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2557 โดยเริ่มต้นจากการพูดคุย และหารือกับผู้ที่มีนัยสำคัญต่อความสำเร็จ นั่นคือ การพูดคุยหารือกับประเทศมาเลเซีย โดยการพูดคุย และหารือนี้ เปรียบได้ดั่ง กระดุมเม็ดแรกของการเดินทางไปตามเส้นทางแห่งสันติสุข ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่สุด
การติดกระดุมเม็ดแรกดังที่กล่าวไปข้างต้น ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สรุปได้ดังนี้
เนื่องจากการเดินทางตามเส้นทางแสงสว่างสู่สันติสุขนั้น เป็นงานที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปสรรคที่มีนัยสำคัญมากที่สุดก็คือ “ระดับความเข้าใจในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติ” ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข หากผู้คนในแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขาดความเข้าใจ หรือ ยึดติดกับทฤษฎี หลักการ และแนวความคิดเดิม ๆ แล้ว ย่อมจะเป็นตัวฉุดรั้งความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ดังนั้นคณะทำงานที่รับผิดชอบกระบวนการพูดคุย จึงต้องใช้เวลาในการทุ่มเทความพยายาม เพื่อสถาปนาความเข้าใจในเรื่องนี้กับผู้คนที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือไปจากปัญหาในเรื่อง “ระดับความเข้าใจ” ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้ว กระบวนการพูดคุยฯ ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลให้กระบวนการพูดคุยฯ ต้องเกิดการชะลอไปในช่วงปี พ.ศ. 2562-2564
ถึงแม้ว่าจะประสบอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากระดับความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง และอุปสรรคจากภัยพิบัติตามธรรมชาติ เฉกเช่น การแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่หยุดการดำเนินการ อีกทั้งได้พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขผ่านช่องทางออนไลน์รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้การพูดคุยมีความคืบหน้าต่อเนื่อง จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการประชุมแบบ Face to Face ที่ประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2565 โดยผลการหารือจากการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปใน 3 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรก คือ ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยหารือ และเห็นพ้องกันในเรื่องหลักการทั่วไป ในกรอบสารัตถะ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือของประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยทั้ง 3 สารัตถะนี้ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยประชาชนฯ ต้องการเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้า อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืน
เมื่อมีประเด็นสำคัญที่จะพูดคุย และหารือกันแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมี “กลไก” ในการขับเคลื่อนสิ่งที่พูดคุยหารือกันให้เป็นรูปธรรม
ในการจัดตั้ง “กลไก” ดังกล่าวได้มีการพิจารณาที่จะจัดตั้ง ผู้ประสานงาน Joint Working Group ขึ้นมาในแต่ละประเด็น โดยเฉพาะประเด็น การลดความรุนแรง และการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก ก็จะใช้ลักษณะการจัดตั้ง Joint Study Group เข้ามาเพื่อศึกษาในรายละเอียดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
โดยกลุ่มการทำงานทั้งสองรูปแบบ จะมีลักษณะแบบกึ่งทางการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความอ่อนตัวในการปฏิบัติงาน ความอ่อนตัวนี้จะทำให้กระบวนการพูดคุยสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด
คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยได้นำเสนอในเรื่อง “การลดกิจกรรมความรุนแรงลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยความสมัครใจ” ทั้งนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในพื้นที่ โดยคณะพูดคุยฝั่งไทย และกองทัพภาคที่ 4 ได้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวไว้บางส่วนแล้ว
การเกิดของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เปรียบได้ดั่ง การปรากฏตัวขึ้นของแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ และ แสงสว่างนี้ นำมาซึ่งความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ที่เปรียบได้ดั่งการปรากฏตัวของ “นกพิราบ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติสุข ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบัน เราอาจจะเห็นรูปร่างของ “นกพิราบ” ตัวนี้ ไม่ชัดเจนนัก แต่จงเชื่อเถอะว่า ภายใต้ ความมุ่งมั่นของคณะทำงานพูดคุยฯ ของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำให้เราได้เห็น “นกพิราบ” ตัวนี้ ได้อย่างชัดเจนได้ในเร็ววัน
Comment