เมื่อท้องอิ่ม อะไร ๆ มันก็ดี.. โคก หนอง นา โมเดล @ จชต.

 16 ก.พ. 2565 17:33 น. | อ่าน 2044
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ลองจินตนาการดูว่า หากคน ๆ หนึ่งมีความรู้สึกหิวโหยอาหาร แล้วความหิวโหยนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง แน่นอนที่สุดย่อมเกิดผลเสียต่อทั้งร่างกาย และจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะไร้เรี่ยวแรงในการทำงาน หรือ ไม่มีอารมณ์จะปฏิบัติภารกิจประจำวัน และหากเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ต่าง ๆ นานา เป็นต้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้านอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ก่อให้เกิดความรู้สึกโมโห หงุดหงิด หดหู่ และส่งผลกระทบด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

          หากขยายวงกว้างจากระดับบุคคล ไปสู่บริบทที่กว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน เมือง หรือ แม้กระทั่งระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ความเลวร้ายก็ยากที่จะบรรยายได้หมด

          ในทางตรงกันข้าม หากคน ๆ หนึ่ง หรือ สังคม ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับใดก็ตาม หากผู้คนในสังคม นั้น ๆ ได้รับการตอบสนอง เมื่อถึงเวลาหิว ก็มีอาหารกิน มีน้ำดื่มบริบูรณ์ หรือ เรียกได้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์ สภาพร่างกาย และจิตใจของคนในสังคมนั้น ย่อมจะมีพลังพร้อมที่จะเดินหน้า และขับเคลื่อน ตนเอง และสังคมของตนไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ หรือ มิติอื่น ๆ ได้ไม่ยาก ดังที่กล่าวว่า เมื่อท้องอิ่ม อะไร ๆ มันก็ดีไปหมดนั่นเอง

ท้องอิ่มของผู้คน เกิดจากความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

          หากพูดในเชิงวิชาการแล้ว คำว่า “ท้องอิ่ม” น่าจะหมายความถึง “ความมั่นคงทางอาหาร” (Food Security) แล้ว “ความมั่นคงทางอาหาร” คืออะไร

          ความมั่นคงทางอาหาร เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางอาหาร ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดความหมายไว้ดังนี้

          “การที่สังคมหนึ่ง ๆ มีความสามารถทั้งทางกายภาพ และทางเศรษฐกิจที่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการ และความพึงพอใจด้านอาหาร เพื่อให้เกิดชีวิตที่มีพลัง และมีสุขภาพ”

          โดย “ความมั่นคงทางอาหาร” นี้ จะให้ความสำคัญใน 4 มิติ ได้แก่ 1) ความพอเพียง (Availability) ของปริมาณอาหารที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนสังคม 2) ความสามารถในการเข้าถึง (Access) อาหารเหล่านั้น นั่นคือ ผู้คน หรือ ประชาชนในสังคมนั้น ๆ ต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรอาหารเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึง 3) การใช้ประโยชน์ (Utilization) กล่าวคือ อาหารเหล่านั้นส่งผลดีทั้งในทางโภชนาการ ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมการมีชีวิต และจิตใจที่ดีได้ และ 4) ความมีเสถียรภาพ (Stability) หรือ อาหารเหล่านั้นจะมีปริมาณเพียงพอในระยะยาว

          หากสังคมหนึ่ง ๆ สามารถทำให้ทั้ง 4 มิติ แห่ง “ความมั่นคงทางอาหาร” ให้เกิดขึ้นในสังคม ก็จะเป็นการดีเป็นอย่างยิ่ง

          อย่างไรก็ตามในโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะมีบางสังคม บางชุมชน ที่มีความพร้อมขององคาพยพต่าง ๆ สมบูรณ์ สอดคล้องและลงตัว เช่น มีลักษณะทางภูมิประเทศที่เกื้อกูลต่อการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของสังคมและชุมชนนั้น แต่สำหรับสังคม หรือ ชุมชนที่มีลักษณะทางภูมิประเทศที่ไม่เกื้อกูล หรือมีลักษณะภูมิประเทศที่ดีอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถนำประโยชน์ของลักษณะภูมิประเทศเหล่านั้นมาใช้เพื่อก่อให้เกิด “ความมั่นคงทางอาหาร” ในสังคมนั้น ๆ ได้ ควรจะมีหนทางแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร

โคก หนอง นา โมเดลสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ตามหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่

          หนึ่งในศาสตร์แห่งพระราชา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ “หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยหลักการดังกล่าวนี้ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดิน และน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          ต่อมากรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้นำแนวทางในการบริหารจัดการที่ดิน และน้ำ เพื่อการเกษตรตาม “หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่” มาประยุกต์ต่อยอด แล้วพัฒนาเป็น “โคก-หนอง-นา โมเดล”

          หลักการ “โคก-หนอง-นา โมเดล” ประกอบไปด้วย 1) โคก หรือ การขุดบ่อในพื้นที่เกษตรมาทำเป็นพื้นที่สูง หรือ โคก โดยบนโคก จะปลูกป่า 3 อย่าง ที่สร้างประโยชน์ 4 อย่าง ไม้ 5 ระดับ ซึ่งจะเป็นกลไกในการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” ให้กับพื้นที่นั้น ๆ 2) หนอง หรือ แหล่งน้ำที่ถูกขุด เพื่อเอาดินไปทำเป็นโคก หรือ พื้นที่สูง ซึ่งน้ำเหล่านี้จะถูกใช้ในการสร้างความชุ่มชื้นกับดิน และ 3) นา หรือ พื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชที่สอดคล้องกับลักษณะท้องถิ่น อาทิเช่น การปลูกข้าว โดยจะต้องเป็นการปลูกตามหลักการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลภาวะแก่ดิน และน้ำ ในพื้นที่ ๆ นั้น

การประยุกต์ โคก หนอง นา โมเดล เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ จชต.

          ในภาพรวมแล้ว พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ธรรมชาติ อย่างไรก็ตามในแง่ของมิติด้านความมั่นคงทางทหารแล้ว อาจจะถือได้ว่ายังไม่มั่นคงนัก เนื่องจากในบางพื้นที่อาจจะยังมีไม่พอเพียง และไม่สามารถเข้าได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องโภชนาการ เช่น โภชนาการของเยาวชน ซึ่งแน่นอนภายใต้สภาวะเช่นนี้ ความยั่งยืน หรือ ความมั่นคงทางอาหาร ย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้

          สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของ “ความมั่นคงทางอาหาร” ของ จชต. นั้น สาเหตุส่วนหนึ่ง คือ คนในชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิน และน้ำ ซึ่งเป็นจุดสำคัญสำหรับการเริ่มต้นในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

          ดังนั้นหน่วยงานราชการและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ จึงได้ร่วมกันน้อมนำ “โคก-หนอง-นา โมเดล” มาผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ดังกล่าว

          จากการประยุกต์ใช้ “โคก-หนอง-นา โมเดล” ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในหลาย ๆ พื้นที่ จชต. เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ยกตัวอย่างเช่น ครัวเรือนต้นแบบในพื้นที่ 1 ไร่ ในพื้นที่ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถปลูกข้าวได้ แต่หลังจากประยุกต์ “โคก-หนอง-นา โมเดล” ก็สามารถปลูกข้าวได้ หรือ ชุมชนในอำเภอติดชายฝั่งทะเล ที่ประสบปัญหาเรื่องดิน และน้ำ ก็สามารถนำแนวคิดบางส่วนของ “โคก-หนอง-นา โมเดล” มาประยุกต์ใช้ เพื่อก้าวข้ามปัญหาเรื่องดิน และน้ำ ได้

          ความมั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ในพื้นที่ จชต.​ นอกจากจะช่วยให้พี่น้องประชาชนใน จชต.​ “ท้องอิ่ม” แล้ว ยังสามารถช่วย “ลดรายจ่าย” และ “เพิ่มรายได้” ด้วยการนำส่วนที่เหลือจากบริโภคในครัวเรือนไปจำหน่าย นอกจากจะช่วงส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชุมแล้ว กิจกรรมภายใต้หลักการ “โคก-หนอง-นา โมเดล” ยังมีส่วนช่วยยกระดับสุขภาพ การดูแลสิ่งแวดล้อม (เช่น การจัดการขยะ) ของคนในชุมชนอีกด้วย และที่สำคัญที่สุด “โคก-หนอง-นา โมเดล” ทำให้ผู้คนในชุมชนเกิดความร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งการร่วมแรงร่วมใจนี้ ถือเป็นพื้นฐาน   ที่สำคัญยิ่งต่อการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนในมิติอื่น ๆ ต่อไป

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.