พัฒนาการในการแก้ไขปัญหาด้านศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 03 ธ.ค. 2564 15:54 น. | อ่าน 4041
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          การศึกษา ถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกลงไปในเรื่องสถานการณ์ และการจัดการในเรื่องการศึกษาใน จชต. พบว่า มีปัญหาในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ด้านการกระจายโอกาส การเคารพความแตกต่าง การมีส่วนร่วม และการปรองดอง ปัญหาเหล่านี้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ จชต.

          ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวข้างต้น รวมไปถึงการวางรากฐานด้านศึกษาที่สอดคล้องบริบทของ จชต.​ จึงเป็นหนึ่งในนัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต

การแก้ไขปัญหา และการวางรากฐานการศึกษาในพื้นที่ จชต.

          ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ระบบการศึกษาในพื้นที่สามารถตอบสนองต่อนโยบายสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ อาทิเช่น โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นต้น โดยการพัฒนาด้านการศึกษาดังกล่าวจะต้องมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การสร้างสันติสุข

          ณ ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงาน และบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานแผนการทำงานร่วมกัน ให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการ รวมไปถึงการวางรากฐานการศึกษาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. ได้อย่างมั่นคงถาวร

          การวางรากฐาน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ จชต.​ จะให้ความสำคัญใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) การศึกษาเพื่อความมั่นคง, 2) การผลิต และพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน, 3) การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา), 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมทางการศึกษา, 5) การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) การพัฒนาระบบการบริหารการศึกษา ที่เน้นในเรื่อง จิตวิญญาณ ในการทำงาน

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา “ใช้พื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน”

          การดำเนินการทั้ง 6 ด้าน ภายใต้การบูรณาการของ ศปบ.จชต. มีความคืบหน้าตามลำดับ และ 1 ใน 6 ด้านที่มีความเป็นรูปธรรม และมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การพัฒนา “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” (การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้) ภายใต้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 เพื่อใช้พื้นที่เป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่ และการสร้างระบบการจัดการการศึกษาที่ตอบโจทย์ในระดับพื้นที่

          ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการพัฒนา “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” โดยนำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, กาญจนบุรี,​ ระยอง, ศรีสะเกษ, สตูล, ปัตตานี, ยะลา และ นราธิวาส

          คำว่า “นวัตกรรมการศึกษา” หมายถึง “แนวคิด วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอน หรือ การบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ ซึ่งได้มีการทดลอง และพัฒนาจนเป็นที่น่าเชื่อถือว่าสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน และการจัดการศึกษา และให้หมายความรวมถึงการนำสิ่งดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย

          พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะมีวัตถุประสงค์หลักด้วยกัน 4 ด้าน ได้แก่ 1) เพิ่มผลสัมฤทธิ์ ผลิต พัฒนา ขยายผลนวัตกรรมการศึกษา, 2) ลดความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพการศึกษา และโอกาสทางการศึกษา, 3) กระจายอำนาจ และให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา และสถานศึกษานำร่องในพื้นที่ และ 4) สร้าง และพัฒนากลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน

คิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

          นอกเหนือไปจากพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่ จชต.​ ภายใต้โครงการ “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แล้ว พัฒนาการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การนำ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” มาใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอีกด้วย

          สำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะเป็นการตอบโจทย์ในเรื่อง “การผลิต และพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน” ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 รวมไปถึงการพัฒนาของโลกอนาคต

          หัวใจสำคัญของ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” จะเน้นในเรื่อง “คิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า” ซึ่งประกอบไปด้วยสมรรถนะหลัก 6 ด้าน ได้แก่ 1) การจัดการตนเอง, 2) การคิดขั้นสูง, 3) การสื่อสาร, 4) การรวมพลังทำงานเป็นทีม, 5) การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และ 6) การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน

          และที่กล่าวมาข้างต้น คือ พัฒนาการในเรื่องการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ จชต. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิด และนโยบายที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ และที่สำคัญที่สุดเป็นการพัฒนาถึงบริบททางด้านวัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต. อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามผลการพัฒนาเหล่านี้ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล รวมไปถึงการสร้างเสริมให้เกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.