การประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ใน จชต.

 03 ธ.ค. 2564 15:49 น. | อ่าน 3048
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ในการแก้ไขปัญหาใด ๆ ในโลกนี้ จะต้องเริ่มต้นที่การทำความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อจากนั้นก็จะเป็นการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา เมื่อมีแผนในการแก้ไขปัญหา สิ่งที่ตามมาก็คือการดำเนินการแก้ไขปัญหา  ตามแผนที่วางไว้ และท้ายที่สุดก็คือการตรวจสอบและประเมินผลว่าการแก้ไขปัญหาเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่

          อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการในการแก้ไขปัญหาก็คือ ข้อมูลที่จะใช้สนับสนุน ในทุกกระบวนการของการแก้ไขปัญหา หากข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว ย่อมมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพต่อกระบวนการแก้ไขปัญหารวมไปถึงประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ประสิทธิภาพของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลคือหัวใจสำคัญ

          การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เช่นเดียวกันกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง ต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในทุกระดับตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับผู้วางแผน ไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นมิติด้านการเมือง มิติด้านสังคมจิตวิทยา มิติด้านเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ มิติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิติการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนมิติด้านความมั่นคงอื่น ๆ

          จากความหลากหลายของผู้ที่เกี่ยวข้อง และความหลากหลายในมิติ ของปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ความต้องการข้อมูลมาสนับสนุนกระบวนการในการแก้ไขปัญหามีความหลากหลายเป็นเงาตามตัว ดังนั้น กระบวนการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจึงต้องมีประสิทธิภาพมากเป็นพิเศษ

พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การใช้งานจริง

          หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงมีการพัฒนากระบวนการในการให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบ ผ่านการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูล จัดระบบข้อมูล และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และวางแผน การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นด้วย

          แม้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยังส่งผลให้เกิดความท้าทาย ในเรื่องการพัฒนาอีกมาก เช่น โครงการเมืองอัจฉริยะ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ต้องการพัฒนาเมืองให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมือง โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข อย่างยั่งยืน

การสร้างเครืองข่ายวิจัยพัฒนาระหว่างหน่วยงาน

          โครงการเมืองอัจฉริยะเป็นหนึ่งตัวอย่างของ โครงการที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสำหรับ โครงการเมืองอัจฉริยะ ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการวิจัยพัฒนาระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการนำเทคนิคแบบใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันอันจะนำไปสู่การเชื่อมโยง และต่อยอดองค์ความรู้ในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล

          การเชื่อมโยงและการต่อยอดองค์ความรู้ ของเครือข่ายการวิจัยและพัฒนา จะนำไปสู่การนำเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล โครงการวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ,​ หน่วยบริหาร และจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องบูรณาการข้อมูลที่หลากหลาย ในลักษณะข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น จำนวนคนยากจน และรายละเอียดต่าง ๆ

          กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกนำมาวิเคราะห์ให้เป็นสารสนเทศสนับสนุนกระบวนการแก้ไขปัญหา เป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งในทุกรูปแบบของกระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เชื่อมโยงกันในหลายมิติ เช่น การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

          หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการพัฒนากระบวนการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินการหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการศึกษา วิจัย และพัฒนา

          ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ส่งผลให้ยังคงมีสิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาดังกล่าว ได้แก่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัย การพัฒนาระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การนำเทคนิค หรือเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการดังกล่าว

          ภายใต้ความพยายามในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่งผลให้เกิดโครงการสำคัญที่นำไปสู่ความเป็นรูปธรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โครงการยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา และ โครงการวิจัยและนวัตกรรมในการขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.