Zero Waste Camping แคมปิ้งชายแดนใต้แบบธรรมชาติรักษ์

 02 ก.ค. 2564 13:18 น. | อ่าน 4558
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      การท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นความสัมพันธ์กัน หากสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจ เข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศไทยกว่า 19.6 ล้านคนต่อปี ปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนไป เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภูเขาหรือทะเล แม้จะมีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกไปด้วย แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ผลนัก ปัญหาหนักกว่านั้นคือ ในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ไม่มีการจัดถังใส่ขยะไว้ให้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับออกไปด้วยก็กลับกลายเป็นว่าบรรดานักท่องเที่ยวต่างนำขยะจำพวกขวดน้ำ กล่อง และถุงบรรจุอาหารวางทิ้งไว้ในที่ดังกล่าวสร้างปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
      จากความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคประชาสังคม และกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่ ที่ช่วยกันพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่พวกเขาให้ชื่อว่า “แคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ท่องเที่ยว  ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ เทือกเขา เช่น อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์ป่าฮาลาบาลา  นอกจานี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน ดังเช่น แหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างทิวเขาสันกาลาคีรีทางตะวันตก และทิวเขาบือยอทางทิศตะวันออก ที่ชุมชนท้องถิ่นร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมไว้อย่างดี มีการจัดการกับขยะจำนวนมากที่นักท่องเที่ยวนำมา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวนั้นเป็นที่น่าสนใจ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวต่างชาติอื่น ๆ  เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งความสงบสุข เป็นการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกทางหนึ่ง
ท่องเที่ยวชายแดนใต้ แบบแคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์

      เมื่อวันที่ 12-14 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้เกิดกิจกรรมดี ๆ ขึ้น ที่บ้านปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ชุมชนเล็กที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ​ที่อุดม​สมบูรณ์ มีภูเขา​และ​สายน้ำ​ มีวิถีชีวิต​ที่เรียบง่าย​  คือ กิจกรรมที่มีชื่อว่า แคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์ หรือ Zero Waste Camping ซึ่งจัดโดย เครือข่าย กลุ่มอาสาสมัคร Trash Hero  Pattani Trash Hero Pattani , Plogging Pattani  ชมรมอาสาพัฒนาชนบท ม.อ.ปัตตานี กลุ่มเยาวชนบ้านปุโรง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส และ Pattani Outdoor Recreation โดยกิจกรรมในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีการจัดมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งแรกที่แหลมตาชี ปัตตานี ส่วนครั้งที่สอง ที่สวนกง สงขลา ครั้งที่ 3 บางหลิง เทพา สงขลา ครั้งที่ 4 หาดแฆแฆ ปะนาเระ ปัตตานี

      แนวคิดของทีมงานผู้จัดงาน แคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์ ก็คือ การนำแนวคิด Zero Waste หรือ ขยะเป็นศูนย์กลายเป็นแนวคิดที่หลาย ๆ ประเทศกำลังให้ความสนใจ รวมถึงในประเทศไทยซึ่งหลากหลายบริษัทได้หันมาให้ความสำคัญโดยใส่แนวคิด Zero Waste เข้าไปในแผนกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่นยืน    แคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์ หรือ Zero Waste Camping คือหนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้น เพื่อเป็นการสื่อสารว่า การท่องเที่ยวที่สร้างความสุขและสร้างความผ่อนคลายให้กับเรา เราเองก็ไม่สมควรทำลายพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการแคมปิ้งแบบไม่มีขยะ ไม่สร้างภาระให้กับพื้นที่ และเมื่อกลับไปก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  ซึ่ง Zero Waste อาจไม่ใช่แค่ขยะเป็นศูนย์ แต่ยังหมายถึง ความสิ้นเปลืองเป็นศูนย์ นั่นหมายความว่า ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีขยะเกิดขึ้น ก็ควรมีขยะที่เหลือจัดการไม่ได้ น้อยกว่า 10% ซึ่งทางทีมงานได้พยายามทดลองและพัฒนารูปแบบกิจกรรม ผ่านการเรียนรู้และสรุปบทเรียนร่วมกันระหว่างทีมงานกับผู้เข้าร่วมแคมป์มาตลอดในการจัดกิจกรรมทั้ง 5 ครั้ง
กฎ กติกา Zero Waste Camping

      กติกาเบื้องต้นที่ผู้เข้าร่วมแคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์ต้องปฏิบัติ ได้แก่ ต้องดูแลตัวเอง โดยการเดินทางไปด้วยตนเอง  พร้อมทั้งจัดนำสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น เต๊นท์ ไฟฉาย ตะเกียง ยากันยุง ยาสำหรับโรคประจำตัว  พกภาชนะใช้ซ้ำ ปิ่นโต จาน ชาม ช้อน ซ้อม กระบอกน้ำ กระติกน้ำ หลีกเลี่ยงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำอาหารไปเองในปริมาณพอเหมาะ ไม่มากจนเกินไปจนเหลือเป็นขยะ ส่วนน้ำแข็งและน้ำดื่มนั้นทีมงานเตรียมไว้ให้ ผู้เข้าร่วมสามารถนำภาชนะใช้ซ้ำมาใส่เพื่อลดการนำขยะพวกขวดน้ำพลาสติก และหากมีขยะเกิดขึ้นก็ให้ผู้เข้าร่วมรับผิดชอบโดยการเก็บกลับไปด้วย ท่านใดที่ไม่สามารถเอากลับได้ ทีมงานจะมีโซนแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยแยกเป็นขยะเศษอาหาร ขยะเปลือกผลไม้ นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ในชุมชนหรือหมักเป็นปุ๋ยต่อไป และมีโซนขยะรีไซเคิล พวกขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำอัดลม กระป๋อง จะมอบให้กลุ่มเยาวชนในชุมชนนำไปขาย

      หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นลงในทุกครั้ง ทางทีมงานจะมีการสรุปข้อมูลทั้งในแง่รายรับ-รายจ่ายในโครงการ ซึ่งเน้นหลักการ Zero profit ไม่หวังผลกำไร โดยนำเงินรายได้ทุกบาทไปใช้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชนท้องถิ่น ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ มีการสรุปข้อมูลขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมแคมปิ้ง โดยระบุประเภทขยะที่เกิดขึ้น จำนวนกิโลกรัม รายละเอียดของขยะและการนำไปใช้ประโยชน์ สรุปจำนวนรวมทั้งหมดของขยะ จำนวนทั้งหมดที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ และจำนวนขยะทั่วไปที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์  สุดท้าย คือ การสรุปบทเรียนสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ของทีมงานและพันธมิตร ที่สำคัญคือการแชร์ความรู้สึกและบอกเล่าประสบการณ์โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ความรู้สึกประทับใจที่มีต่อกิจกรรม การเรียนรู้ที่ได้รับ ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญต่อเป้าหมายของกิจกรรมที่ต้องการจะสื่อสารสร้างความเข้าใจในด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม
      มาตรงนี้ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน ลองเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่ตัวเอง ด้วยการเลือกใช้สิ่งของทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการใช้พลาสติก เพียงแค่นี้ก็สามารถลดจำนวนขยะต่อคนได้ไม่น้อย ลองมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันวันละนิดแล้วจะพบว่าแนวคิดขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste ก็จะเป็นจริงได้
ส่งต่อความประทับใจ

      กิจกรรมที่สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วม นอกจากการได้พักผ่อนในท่ามกลางธรรมชาติแล้ว แคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์ ยังมีกิจกรรมเวิร์กชอป และกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย ทั้งการทำรองเท้าทะเลจร (รองเท้ารีไซเคิลจากขยะทะเล), ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ, สมุดทำมือปกผ้าปาเต๊ะ, Slackline (การเดินทรงตัวบนเชือก), ล่องแก่งปาตาปุโรง, เล่นน้ำคลอง และ กิจกรรมล้อมวงรอบกองไฟ กับการแสดงสุดพิเศษ ควงกระบองไฟ โดยเยาวชนบ้านปุโรง ซึ่งหลังจากกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้ที่สนใจกิจกรรมท่องเที่ยวดี ๆ แบบนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและติดต่อชุมชนบ้านปุโรงได้โดยตรงที่ เพจ PATA Camp Purong  ส่วนกิจกรรม แคมปิ้งแบบธรรมชาติรักษ์ Zero Waste Camping ครั้งต่อไปคือครั้งที่ 6 จะจัดที่ใด เมื่อไหร่นั้น สามารถติดตามได้ที่เพจ Trash Hero Pattani หรือ เพจ Pattani Outdoor Recreation แล้วคุณจะรู้ว่าชายแดนใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ลองปักหมุดเลือกมาสักจังหวัด ปัตตานี ยะลา หรือนราธิวาส แล้วความคิดกลัวที่อยู่ในใจจะหายไป แปรเปลี่ยนเป็นความประทับใจ

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.