ลังกาสุกะโมเดล สู่ความภูมิใจและการเข้าถึงยาสมุนไพรอย่างเท่าเทียม

 11 มี.ค. 2564 16:36 น. | อ่าน 5717
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่ทำให้นักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาศึกษา เช่นเดียวกันกับ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิงชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในฐานะผู้คิดค้นยาต้านไวรัสเอดส์และยังพัฒนายาอีกหลายชนิด ทำให้ผู้คนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นคนจนคนรวยก็สามารถเข้าถึงยารักษาต้านไวรัสเอดส์อย่างเท่าเทียม ผู้ที่เคยได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี พ.ศ. 2552 เป็นอีกหนึ่งบุคคล ที่มองเห็นศักยภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่ายสมุนไพรในชื่อว่า ลังกาสุกะโมเดล ซึ่งมาจากชื่อของอาณาจักรลังกาสุกะในสมัยโบราณที่รุ่งเรืองที่สุดในคาบสมุทรมลายู เป็นการสื่อความหมายถึงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการสร้างเครือข่ายสมุนไพรที่ครบวงจรขึ้นมีกระบวนการจัดการทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ

          โครงการลังกาสุกะโมเดล เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งอาจารย์กฤษณาได้มีโอกาสลงมาที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นวิทยากรพูดให้ชาวบ้านฟังเกี่ยวกับการผลิตยาสมุนไพร การบรรยายดำเนินไปเป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง โดยที่อาจารย์ก็ไม่รู้เลยว่าชาวบ้านไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์พูดแม้แต่น้อย เพราะว่าพวกเขาใช้ภาษายาวี อาจารย์จึงต้องใช้เวลาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เป็นเวลานานถึง 6 ปี ตราบจนปี พ.ศ. 2557 จึงสามารถสร้างโรงงานผลิตยาสมุนไพรขึ้นมาได้ โดยเริ่มจากวิธีการผลิตเพื่อให้ชาวบ้านลองใช้เมื่อเห็นผลและเข้าใจ จึงให้ความร่วมมือในการปลูกสมุนไพรเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพร

ไม่มีต้นน้ำย่อมไม่มีปลายน้ำ

          สมุนไพรชนิดแรกที่นำมาส่งเสริมในโครงการลังกาสุกะโมเดล คือ ขมิ้นชัน โดยขมิ้นชันที่มีคุณภาพสูงพบว่าเป็นพันธุ์ที่ปลูกอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจทดสอบแล้วพบว่ามีสารคิวเคอร์มินอยด์สูงมาก นับเป็นสถิติที่ดีที่สุดในโลกก็ว่าได้  ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์จึงได้นำจากบ้านตาขุนนี้มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อที่จะได้จำหน่ายผลผลิตให้แก่โรงพยาบาลนำมาผลิตเป็นยาแคปซูล ซึ่งการปลูกสมุนไพรเพื่อผลิตยานั้นก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขหลายประการ โดยจะต้องผลิตในระบบอินทรีย์ และต้องมีผลผลิตที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จึงทำให้ที่ผ่านมามีการส่งเสริมเกษตรกรในหลายพื้นที่แต่ไม่ประสบความสำเร็จเกษตรกรถอดใจไม่ทำต่อ ก็ไม่ได้ทำให้ ศ.ดร.กฤษณารู้สึกท้อใจ

          นอกจากการตั้งโรงงานแปรรูปและโรงงานผลิตยาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว  ศ.ดร.กฤษณา ยังได้ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจมาจัดสร้างเป็นรถโมบายเคลื่อนที่ออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนโรงงานแปรรูปขนาดย่อม และรถโมบายเคลื่อนที่สำหรับตรวจสอบคุณภาพผลผลิตเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรไม่ให้ต้องมีต้นทุนด้านการขนส่งและการติดต่อเพื่อส่งจำหน่ายผลผลิต เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ว่า ต่อไปนี้จะนำโรงงานไปหาชุมชนโดยที่ชุมชนไม่ต้องหาโรงงาน  กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชสมุนไพรขมิ้นชันจำหน่ายผลผลิตให้แก่โครงการลังกาสุกะโมเดลนั้น ปัจจุบันได้ขยายผลไปในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อ.จะแนะ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร และอ.สุคิริน โดยพื้นที่ที่จะปลูกนั้นผู้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำก่อนจึงจะได้รับการสนับสนุนจากโครงการเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่เตรียมดินไว้อย่างดี

          การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานที่จะนำมาแปรรูปเป็นยานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความพยายามของพี่น้องเกษตรกร เมื่อตั้งใจจะเข้าร่วมโครงการแล้วต่างก็ศึกษาจากการปฏิบัติ ลองผิดลองถูกจนสามารถปลูกพืชสมุนไพรให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพตามที่โรงงานได้กำหนดไว้  ดังเช่นที่บ้านจือแร อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีเกษตรกรที่ปลูกขมิ้นชันแบบอินทรีย์ ที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 2 จากประสบการณ์ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า แม้การทำเกษตรอินทรีย์จะมีต้นทุนไม่มาก แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการทำการเกษตรแบบประณีตเพื่อให้ผลผลิตออกมานั้นเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประกอบกับการปลูกพืชในแต่ละรอบจะมีเวลาในการพักดินเป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นโจทย์ที่พวกเขาต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรในแปลงที่ตนเองเตรียมไว้เพื่อความสมบูรณ์พร้อมที่จะปลูกขมิ้นในรอบต่อไปได้ และที่ผ่านมาในรอบปีแรกปริมาณของสารสำคัญในขมิ้นที่ปลูกที่บ้านจือแร ก็อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะนำไปผลิตเป็นยาได้

ความภูมิใจที่ได้ผลิตยาใช้เอง

          ขมิ้นสดที่เกษตรกรขุดขึ้นมาจำหน่ายให้กับโครงการลังกาสุกะโมเดล เมื่อตรวจสอบคุณภาพแล้วจะถูกขนส่งโดยรถเคลื่อนที่ของโครงการนำมาแปรรูปที่เดียวกัน นั่นคือ โรงงานแปรรูปสมุนไพร โรงพยาบาลกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่ต้องหยุดชะงักการดำเนินการไป 3 ปีเพราะจำนวนที่เข้ามาไม่เพียงพอ และในปีนี้กลับมาดำเนินการอีกครั้งเมื่อเกษตรกรมีผลผลิตที่มากขึ้น โรงงานแปรรูปสมุนไพรแห่งนี้  ถือเป็นกระบวนการกลางน้ำ เมื่อได้รับขมิ้นสดจากกลุ่มเกษตรกร จะทำการล้างทำความสะอาดกำจัดสิ่งเจือปน แล้วนำขมิ้นชันไปต้มและตามด้วยการหั่น ก่อนจะนำไปตากแดด 3 วันติดต่อกัน และอบในตู้อบอีก 6 ชั่วโมง จากนั้นนำไปบดและบรรจุถุงแบบสูญญากาศเพื่อส่งงต่อไปที่โรงพยาบาลจะแนะเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุแคปซูล และนำไปใช้กับโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          การดำเนินงานโครงการลังกาสุกะโมเดลที่ ศ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้ลงหลักปักฐานไว้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อ 12 ปีก่อน ได้ดำเนินการมาจนสามารถผ่านพ้นขั้นตอนที่ยากที่สุดไปแล้ว นั่นก็คือการทำให้พี่น้องประชาชนเห็นความจริงใจของการเข้ามาส่งเสริมในการปลูกพืชสมุนไพร จากขมิ้นชันเริ่มขยายไปสู่ฟ้าทะลายโจร นอกจากพวกเขาจะมีรายได้เสริมที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญก็คือการสนับสนุนให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองทางด้านสุขภาพได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ ทุกวันนี้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าถึงยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขได้ในราคาที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น และยังทำให้เกษตรกรบางส่วนได้มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชสมุนไพรในสวนเล็กๆ หลังบ้านของตัวเองและกำลังขยายเครือข่ายไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคง

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.