ลูกหยียะรัง รุกขมรดกแห่งจังหวัดปัตตานี

 15 ก.พ. 2564 16:07 น. | อ่าน 9086
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ต้นหยีเป็นเป็นพืชพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี เป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งขนาดใหญ่สูงใหญ่คล้ายต้นยางนา มีอายุยืนนับร้อยปีและสามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ในอดีตการปลูกต้นหยีมักปลูกเพื่อแสดงแนวเขตที่ดินหรือที่สวน ของตนเอง หรือนำไม้มาสร้างบ้าน ในอำเภอยะรังมีต้นหยีอายุเกินร้อยปีอยู่เกือบร้อยต้น มีต้นหยีรุ่นลูกรุ่นหลานรวม 3 พันกว่าต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีต้นที่ออกผลอยู่พันกว่าต้น ความพิเศษของต้นหยีก็คือ นับจากวันที่เริ่มปลูกจนถึงวันที่ออกผลนั้นต้องใช้เวลายาวนานราว 30 ปี ต้นหยีเกือบทั้งหมดที่ออกผลจึงเป็นรุกขมรดกที่บรรพบุรุษหลายรุ่นปลูกไว้ให้ การเก็บลูกหยีก็ต้องให้ผู้ชำนาญการปีนขึ้นไปถึงยอด แล้วตัดกิ่งที่มีผลลงมา ตัดกิ่งด้านไหน ปีหน้า ด้านนั้นก็จะไม่ออกผลอีก ต้องรอปีถัดไป เพราะต้นหยีจะออกผลตามกิ่งที่มีอายุเท่านั้น

          จากบันทึกและเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาพบว่า เรื่องราวของลูกหยีปรากฏ ในเพลงกล่อมเด็กเป็นภาษามลายูท้องถิ่น ดังนี้ “โต๊ะแซยาแลยัยลีมอ ยาแงลูปอเวาะกายี” แปลว่า “ผู้เฒ่า ไปเที่ยวเมืองยะรัง ตอนกลับอย่าลืมลูกหยีนะ” จากบันทึกดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานได้ว่าลูกหยียะรังมีอยู่ใน พื้นที่มาแต่ดั้งเดิม และจากความชำนาญของคนในพื้นที่ในการปีนป่ายเก็บผลลูกหยีสุก ประกอบกับ ภูมิปัญญาของการเก็บรักษาผลลูกหยีและวิธีการแปรรูป พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ลูกหยียะรังในรูปแบบ ต่างๆ การแปรรูปลูกหยีคุณภาพดีที่สุดในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวคือ ลูกหยีเชื่อม จากนั้นก็จะนำมาแปรรูปเป็นน้ำลูกหยี น้ำพริกลูกหยี เยลลี่ลูกหยี สบู่ลูกหยี และสินค้าที่คนคุ้นเคยกันดีอย่าง ลูกหยีกวน และลูกหยีฉาบ ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสลูกหยีอีกด้วย

ชุมชนดงต้นหยี ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี

          บ้านปูลาตะเยาะฆอ หมู่ที่ 5 ต.ระแว้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเรียกว่า ชุมชนดงต้นหยี แหล่งที่มีต้นหยีมากที่สุดในพื้นที่ อ.ยะรัง และชาวบ้านได้ทำการแปรรูปลูกหยีกันมาหลายชั่วอายุคน และเข้าร่วมโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ที่นี่มีต้นหยียักษ์โบราณอายุถึง 400 ปี ซึ่งน่าจะมีอายุมากที่สุดในประเทศไทย ความสูงก็ไล่เลี่ยกับตึก 10 ชั้น ความลับของความยาวนานของต้นหยีที่นี่นั่นก็คือการส่งต่อให้ลูกหลานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์ต้นหยี และกำหนดกฎในการดูแลรักษา โดยการเก็บลูกหยีนั้นที่นี่เขาจะเก็บปีเว้นปี

          ทางด้านเศรษฐกิจที่นี่จะมีการทำในรูปแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บริหารการจัดการควบคุมตั้งแต่จุดเริ่มต้นการผลิตไปสู่การจำหน่าย โดยผลผลิตนั้นจะเก็บได้ในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายนเท่านั้น ช่วงนี้ผลผลิตอยู่ในช่วงออกดอก แต่ในปีนี้มีการออกดอกน้อยมากทำให้ผลผลลิตมีจำนวนน้อย อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางด้านการส่งออกและจำหน่ายทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่างประเทศ คือถ้าหากมีผลผลิตจำนวนน้อยเป็นที่ต้องต้องการทางตลาด ราคาก็จะสูงตามไปด้วย

ลูกหยียะรัง สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

          “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ Geographical Indications : GI หมายถึง สัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มี คุณภาพ มีชื่อเสียง หรือมีคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง. ความแตกต่างของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น คือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด แต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้น ที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อ ทางภูมิศาสตร์นั้นได้ ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกเหนือแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้

          จากการที่อำเภอยะรังเป็นแหล่งต้นหยีมากมายหลายพันต้น เป็นพืชพื้นถิ่นที่มีนัยสำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของพื้นที่ ทางจังหวัดปัตตานีจึงได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนในปี 2562 และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ในนาม “ลูกหยียะรัง (Yarang Velvet tamarind และ/หรือ Lukyee Yarang)” การขึ้นทะเบียน ได้ครอบคลุมรายละเอียด ได้แก่ ลูกหยีพันธุ์หยีทวย หรือทวยงาช้าง และพันธุ์หยีธรรมดาหรือหยีบ้าน เป็นลูกหยีผลสุกไม่กระเทาะเปลือกและลูกหยีผลสุก กระเทาะเปลือก ที่มีผลใหญ่ ผิวเปลือกบาง สีดำ เมื่อกระเทาะเปลือกจะมีเนื้อหนายุ่ยสีแดงหรือแสด รสชาติ เปรี้ยวหรือเปรี้ยวอมหวาน หรือเปรี้ยวอมฝาด และรวมถึงลูกหยีผลสุกกระเทาะเปลือกที่ผ่านการแปรรูปเป็น ลูกหยีทรงเครื่อง ลูกหยีฉาบ ลูกหยีกวน ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวปนเค็ม หรือหวานอมเปรี้ยวปนเค็มและ เผ็ด ที่ปลูกและแปรรูปในเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีสินค้าที่ได้รับการคัดเลือก ดำเนินการขอขึ้นทะเบียน และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยแล้วหลายรายการ สำหรับจังหวัดปัตตานี นอกจาก"ลูกหยียะรัง" แล้ว ยังมี ส้มโอปูโกยะรัง ส่วนจังหวัดนราธิวาสมี ปลากุเลาเค็มตากใบ ลองกองตันหยงมัส และจังหวัดยะลา มีกล้วยหินบันนังสตา และยังมีสินค้าที่รอการขึ้นทะเบียนอีกหลากหลายรายการ การขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย  ซึ่งเป็นสินค้ามีศักยภาพและมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะสามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชนในท้องถิ่นที่ต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าของตน สร้างความผูกพันและความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด อันเป็นการสร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่นซึ่งจะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.