The Hornbills Lady สตรีผู้พิทักษ์นกเงือกถิ่นชายแดนใต้

 30 ธ.ค. 2563 17:00 น. | อ่าน 3582
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ลึกเข้าไปในแนวป่าเขตจังหวัดชายแดนใต้ เป็นบ้านของนกเงือกครอบคลุมทั้ง 13 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย เท่ากับประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในแถบประเทศอาเซียนด้วย แต่เดิมที่ชาวบ้านในหมู่บ้านพื้นที่รอบเทือกเขาบูโดเป็นพรานป่าล่านก ในปัจจุบัน กิจกรรมบนเขาบูโดเปลี่ยนจากการขโมยลูกนกมาเป็นแนวร่วมอันเข้มแข็งในการอนุรักษ์ ร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก รูปแบบการอนุรักษ์นกเงือกที่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี หรือที่เรียกกันว่า ‘บูโดโมเดล’ ได้รับความสนใจอย่างมากจากต่างชาติ และถูกนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ อีกด้วย โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงฤดูทำรัง ชาวบ้านจะเก็บข้อมูลทางวิชาการ ส่วนช่วงนอกฤดูทำรังก็จะช่วยดูแลและซ่อมแซมโพรงรังบนต้นไม้

สตรีผู้พิทักษ์นกเงือก

ภาพจาก The Hornbill Lady

ภาพจาก The Hornbill Lady

          นูรีฮัน ดะอูลี สตรีผู้ปรากฏในสารคดี “The Hornbill Lady” ซึ่งชนะการประกวดสารคดีนานาชาติ ในงานเทศกาลภาพยนตร์ EIDF 2020 ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นผลงานอันภาคภูมิของบริษัทผู้ผลิตสารคดี ป่าใหญ่ครีเอชั่น ซึ่งใช้เวลาดำเนินการผลิตสารคดีชุดนี้อย่างต่อเนื่องประมาณ 2 ปี ด้วยการเดินทางเข้าไปในป่าลึกร่วมกับทีมงาน บูโดโมเดล ของมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก บันทึกภาพการทำงานของทีมงานอนุรักษ์ และภาพนกเงือกหายาก ทุกระยะ ตั้งแต่การจับคู่เกี้ยวพาราสี การปิดรัง เพื่อฟักไข่ การเลี้ยงลูกของตัวผู้ จนตัวเมีย และลูกบินออกจากโพรงไม้

          สารคดีดำเนินเรื่องด้วยการตามติดชีวิตของนูรีฮัน สตรีสาวมุสลิมผู้สดใสและแข็งแกร่ง ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับทุกคนในทีม ความฝันความหวังของเธอแตกต่างจากสตรีมุสลิมทั่วไป  คือฝันให้โครงการ “บูโดโมเดล” เป็นโครงการที่เข้มแข็ง เปลี่ยนนักล่านก มาเป็นแนวร่วมอนุรักษ์  ให้นกเงือกสำคัญเหล่านี้รอดพ้นจากการถูกคุกคาม และให้คนเข้าใจว่านกเงือกสำคัญต่อระบบนิเวศน์ หยุดการล่านกและที่สำคัญคือหยุดทำลายป่า ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์นกได้ยั่งยืนมากขึ้น

จุดเริ่มต้นการเป็นผู้พิทักษ์

          นูรีฮัน มีความผูกพันกับป่าไม้และธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก เพราะเธอเกิดและเติบโตที่หมู่บ้านปาโจ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส บ้านของเธออยู่ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติ  บูโด-สุไหงปาดี มากนักสมัยเด็กเธอมักจะเดินตามปู่ และพ่อที่เดินเลี้ยงวัวเข้าไปในป่าเป็นประจำ ทำให้ได้เห็นต้นไม้และสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงนกเงือก เธอมีพ่อของเธอ ที่ทำงานเป็นผู้ช่วยโครงการบูโดโมเดลเป็นต้นแบบ และแรงบันดาลใจ

          เธอเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในคณะรัฐศาสตร์ เรียนจบภายในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง หลังจากเรียนจบเธอยังคงใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ และได้ทำงานเป็นพนักงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ทว่าการใช้ชีวิตท่ามกลางความวุ่นวาย และตึกสูง ทำให้เธอหวนคิดถึงความสงบของธรรมชาติที่บ้านเกิด และตัดสินใจทิ้งความวุ่นวาย และเงินเดือนกว่า 20,000 บาท ไว้เบื้องหลัง แลกกับการได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และธรรมชาติด้วยเงินเดือน 4,500 บาท ในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยนกเงือก โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ภายใต้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อุทยานแห่งชาติ  บูโด-สุไหงปาดี

หน้าที่ดูแลความรักและความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์นกเงือก

          เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่นูรีฮัน เป็นหนึ่งกำลังสำคัญของทีมวิจัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี หน้าที่หลักของเธอ คือ การบันทึกข้อมูลในแต่ละเดือนของแต่ละทีมในพื้นที่ การเดินสำรวจต้นไม้ รวมถึงอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ คือการปีนต้นไม้ขึ้นไปซ่อมแซมโพรง หรือติดตั้ง โพรงเทียม ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับ ทีมวิจัย แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้ทำหน้าที่นี้  นูรีฮัน ใช้เวลา 2 ปี กว่าจะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานนี้ ที่มีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยเพราะต้นไม้แต่ละต้นสูงมาก โดยต้นที่สูงที่สุดที่เธอเคยปีนขึ้นไปสูงกว่า 35 เมตร

          สถานการณ์นกเงือกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มีแนวโน้มเป็นไปในทางบวก โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการมาในปี 2527 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีลูกนกเงือกเกิดใหม่กว่า 600 ตัว ขณะที่อดีตนายพราน ที่เคยปีนขึ้นไปล้วงลูกนกเงือกเพื่อนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง ก็ถูกชักชวนให้เปลี่ยนใจมาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ในพื้นที่แทบทั้งหมด ปัจจุบันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีทีมวิจัยกว่า 40 ชีวิต ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคนในพื้นที่ แบ่งตามเขตของแต่ละหมู่บ้าน โดยทั้งหมดดูแลโพรงนกเงือกกว่า 100 โพรง

          โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกในประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2521 ริเริ่มโดย ศ.ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ช่วงแรกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่วิจัยหลักปัจจุบันมีพื้นที่วิจัยหลักอยู่ 3 แห่ง คือที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส จำนวนลูกนกเกิดใหม่รวมของทั้ง 3 พื้นที่ นับตั้งแต่ปี 2521 ถึงปัจจุบันอยู่ที่กว่า 4,000 ตัว

หมายเหตุ: ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเฟสบุค เพจ Thailand Hornbill Project และ เพจ The Hornbill Lady และบทความ หญิงผู้พิทักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด จาก BBC ไทย

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.