มองปัญหา ๓ จชต. ผ่านกรณีศึกษาไอร์แลนด์

 20 ก.พ. 2559 15:37 น. | อ่าน 4999
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

    เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนของผม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงที่ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๓ จชต. มาแล้วกว่า ๒๐ ปี ผมและเพื่อนผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันในหลายๆ ประเด็น เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา ๓ จชต. โดยหนึ่งในประเด็นที่พูดคุยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม การถกแถลงระหว่างผม กับ เพื่อน ในประเด็นไอร์แลนด์ ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด เนื่องจากผมมีข้อมูลน้อยเกินไปในประเด็นนี้ ด้วยประการ ฉะนี้ ผมก็เลยต้องไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในไอร์แลนด์ ให้ได้มากที่สุด เท่าที่เวลาจะอำนวย เพื่อที่จะได้ไปพูดคุย/ถกแถลงกับเพื่อนของผมได้อย่างมีอรรถรส และเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว ก็เลยนำเนื้อหาแบบสรุปย่อๆ มาเขียนลงในบทความฉบับนี้

    ก่อนอื่น ขอเกริ่นนำแบบสั้นๆ ดังนี้ครับ รัฐบาลอังกฤษเผชิญปัญหาสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในช่วงปี 1969 – 1994 มีผู้เสียชีวิต 3,660 คน บาดเจ็บมากกว่า 40,000 คน กองทัพ IRA (Irish Republican Army) เป็นที่รู้จักและจดจำของคนทั่วโลก แต่ปัจจุบันเขาสามารถยุติสงครามกลางเมืองดังกล่าวได้แล้วและกำลังฟื้นฟูสายสัมพันธ์ทางสังคมขึ้นใหม่อย่างน่าประทับใจ  

    อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การพัฒนากลไกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งประกอบด้วย ๕ กลไกหลัก ดังนี้

  • การมีส่วนร่วมของสื่อสาธารณะ: บทบาทของสื่อสาธารณะ BBC ที่คอยตรวจสอบทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาล และกองทัพอย่างตรงไปตรงมา
  • การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ: ภาคประชาชนในไอร์แลนด์ลุกขึ้นมาช่วยคลี่คลายกันเอง โดยตั้ง มูลนิธิกองทุนชุมชน (Community Foundation)
  • การบูรณาการทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา: ตั้งกระทรวงไอร์แลนด์เหนือขึ้นเป็นการเฉพาะพื้นที่ (Area-based Ministry)
  • การกระจายอำนาจ: การมอบโอนอำนาจสำคัญบางส่วนของรัฐบาลกลางไปให้แคว้น ดูแลชั่วคราวแบบที่เรียกว่า Devolution
  • ความร่วมมือจากมิตรประเทศ: การขอแรงสหรัฐอเมริกาตัดท่อน้ำเลี้ยงจากชาวอเมริกันไอริช

    กลไกที่ ๔ และ ๕ เกิดขึ้นภายหลังที่ กลไกที่ ๑ และ ๒ (สื่อสาธารณะ และ ภาคประชาชน) ผลักดันให้ฝ่ายนโยบาย/การเมืองดำเนินการ

    ถ้าเรามองปัญหา ๓ จชต. ผ่านกลไกทั้ง ๕ เราจะเห็นความแตกต่างของกลไกทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นในกรณีไอร์แลนด์ กับ ๓ จชต. ดังนี้

กลไก

การเปรียบเทียบ

ไอร์แลนด์

๓ จชต.

๑. การมีส่วนร่วมของสื่อสาธารณะ

BBC เป็นสื่อสาธารณะที่เข้มแข็งมีอิทธิพลต่อการสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ในระดับที่สูงมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

สื่อสาธารณะของไทย ยังไม่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะสร้างผลกระทบต่อการรับรู้ที่สูงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

๒. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

ภาคประชาชนในไอร์แลนด์ลุกขึ้นมาช่วยคลี่คลายกันเอง โดยตั้ง มูลนิธิกองทุนชุมชน (Community Foundation)

 

ภาคประชาชนใน ๓ จชต. มีการรวมตัวกัน และมีความเห็นไปในทิศทางที่เป็นบวกต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

๓. การบูรณาการทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา

ตั้งกระทรวงไอร์แลนด์เหนือขึ้นเป็นการเฉพาะพื้นที่ (Area-based Ministry) ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการ และบูรณาการทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาเกิดเอกภาพ และถูกใช้ไปในแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด

 

รัฐบาลในปัจจุบัน พยายามอย่างยิ่งยวดในการ บูรณาการยุทธศาสตร์/แผนงาน/งบประมาณ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด

๔. การกระจายอำนาจ

การมอบโอนอำนาจสำคัญบางส่วนของรัฐบาลกลางไปให้แคว้น ดูแลชั่วคราวแบบที่เรียกว่า Devolution

ไม่มีความชัดเจนในการมอบโอนอำนาจสำคัญใดๆ จากรัฐบาลไปสู่พื้นที่ จชต. อำนาจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในส่วนกลาง

๕.ความร่วมมือจากมิตรประเทศ

การขอแรงสหรัฐอเมริกาตัดท่อน้ำเลี้ยงจากชาวอเมริกันไอริช

ได้รับความร่วมมือจากประเทศมาเลเซียในฐานะเป็นคนกลางในการพูดคุยเพื่อสันติสุข


   ดังที่กล่าวไปแล้ว ความสำเร็จของการสร้างประสิทธิภาพให้กับกลไกทั้ง 5 มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำไปสู่การพูดคุย และการเจรจาเพื่อสันติภาพในไอร์แลนด์ อย่างไรก็ตามจากการเปรียบเทียบข้างต้น จะเห็นได้ว่าสถานะภาพของกลไกจริง ณ ปัจจุบันในพื้นที่ ๓ จชต. มีหลายกลไกที่มีความก้าวหน้าไปมาก ดังนั้นการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ไม่มาก ก็น้อย กำลังเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้ในที่สุด

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.