สูงวัย ไม่ไร้ค่า ที่บ้านยุโป

 27 ส.ค. 2563 18:35 น. | อ่าน 2339
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์ในปี 2564 คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ความท้าทายสำคัญคือการสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ในมิติคุณค่า และคุณูปการที่ผู้สูงอายุมีต่อสังคม จะทำอย่างไรที่จะรับมือในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพโดยผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว ตระหนักในคุณค่าของตนเอง และคุณค่าของตนเองต่อสังคม

          ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดูแล และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องมีมาตรการรองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณภาพชีวิต และศักยภาพของผู้สูงอายุในชนบทห่างไกล จึงเกิดการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือโดยภาครัฐ และภาคเอกชน ตั้งแต่ระดับบุคคลชุมชนและประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เกิดการร่วมกลุ่มกันในชุมชน และการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัย และการปรับตัวด้านสังคม และจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับผู้สูงอายุ ที่มากกว่านั้นก็คือการที่ผู้สูงอายุได้มาพบปะพูดคุยกันจะได้ไม่รู้สึกเหงา ส่งผลให้สุขภาพจิตดี และทำให้ร่างกายแข็งแรง

ตอบสนองทุกช่วงวัย ไม่ไร้งานทำ

          เช่นเดียวกันกับผู้สูงอายุในพื้นที่ บ้านยุโป ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งได้นำองค์ความรู้จากการอบรมโดยบัณฑิตแรงงานในพื้นที่มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพในการถักทอไหมพรม การทำน้ำมันสมุนไพร การนวดแผนโบราณ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่บัณฑิตแรงงาน คือ คนในท้องถิ่นที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและสมัครใจทำงานให้กับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดสันติสุขทางด้านแรงงานระหว่างผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน หรือผู้ใช้แรงงานที่ประสบความเดือดร้อนในพื้นที่แต่ละจังหวัด

          สำนักงานแรงงานจังหวัดยะลา โดยบัณฑิตแรงงานจังหวัดยะลา ได้มีบทบาทหลักในการสนับสนุนกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ บ้านยุโป ให้มีอาชีพ มีรายได้เสริม นอกเหนือจากอาชีพหลักให้กับครอบครัว คุณมารยะห์ มาหะ บัณฑิต  แรงงานบ้านยุโป ได้บอกเล่าถึงกิจกรรมของกลุ่มที่บ้านยุโปว่า มีจุดเริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งสะท้อนออกมาว่ามีเวลาว่างค่อนข้างมาก จึงได้รวมกลุ่มกัน โดยเริ่มทำงานถักไหมพรม ในนามกลุ่มหัตถกรรม งานประดิษฐ์บ้านยุโป โดยมีบัณฑิตแรงงานมาสอนวิธีการทำ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานแรงงาน และหน่วยงานราชการอื่น ๆ เช่น สำนักพัฒนาชุมชน หรือทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถทำชิ้นงานออกขายเป็นสินค้าโอทอป พร้อม ๆ กับจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเป็น 20 คน

บั้นปลายยังมีอาชีพเสริม

          เนื่องจากกลุ่มหัตถกรรมงานประดิษฐ์บ้านยุโป คือการผสมผสานของคนช่วงวัยกลางคนที่เป็นแม่บ้าน และผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นเมื่อสมาชิกกลุ่มฝึกงานถักไหมพรมได้สักระยะ พบว่าบางคนที่เป็นผู้สูงอายุสายตาไม่ดีแล้ว ไม่สามารถทำงานประดิษฐ์ไหมพรมได้ จึงเกิดความคิดที่จะเพิ่มกิจกรรมการทำน้ำมันนวดสมุนไพร และการนวดเพื่อผ่อนคลาย เพื่อตอบสนองให้กับสมาชิกผู้สูงอายุ สามารถนำวัตถุดิบสมุนไพรอย่าง ตะไคร้ ขมิ้น ไพล ซึ่งสามารถหาได้ในชุมชน มาแปรรูปเป็นน้ำมันสมุนไพรเพื่อใช้ในการนวด นอกจากทำใช้เองแล้วยังสามารถขายได้ และใช้นวดให้กับลูกค้าได้ และต่อยอดเป็นการบริการนวดแบบโบราณ ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่บ้านยุโป มีอาชีพ และมีรายได้เลี้ยงตัวในบั้นปลาย

          ปัจจุบัน ทางกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มหัตถกรรมงานประดิษฐ์บ้านยุโป มีที่ทำการอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านยุโป มีการทำผลิตภัณฑ์จากไหมพรม น้ำมันนวดสมุนไพร และการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ ซึ่งทางกลุ่มมีความตั้งใจจะต่อยอดเป็นโรงนวด และสถานที่ออกกำลังกายเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน และนี่คือผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่มาจากการมองเห็นปัญหา และการให้ความสำคัญจากหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในพื้นที่ เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้สังคมผู้สูงอายุในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แข็งแรง ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ มีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาในพื้นที่คลี่คลายได้ในที่สุด เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.