คณะผู้พิทักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด

 27 ส.ค. 2563 17:13 น. | อ่าน 3096
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ณ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีพื้นที่กว่า 200,000 ไร่ เป็นป่าดิบชื้นที่ปกคลุมเทือกเขาทั้งหมดมีไม้ขนาดใหญ่ และพรรณไม้หายาก สัตว์ป่าหายาก และนกหลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ รวมทั้ง “นกเงือก” สัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศป่าดิบเมืองร้อน เป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ ซึ่งในสมัยก่อนสังคมส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องความสำคัญของนกเงือก แม้ชาวบ้านที่อยู่รอบผืนป่าก็ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการล่านกเงือกเพื่อนำไปขายให้คนเมืองซึ่งรับซื้อในราคาสูง จนกระทั่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ เข้าไปทำวิจัยด้านปักษีวิทยา และนิเวศวิทยาสัตว์ป่าในผืนป่าบูโด และได้เผยแพร่สถานการณ์ของนกเงือก ตลอดจนความรู้จากผลการวิจัยระยะยาว ผู้คนจึงมีโอกาสรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของนกเงือกกับเทือกเขาบูโด ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์นกเงือก และธรรมชาติ

นักบุญของนกเงือก

          ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยนานและทำอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ตลอดระยะเวลาการทำงานมี ปรีดา เทียนส่งรัศมี ผู้เป็นหลานชายเป็นผู้ร่วมทีมนักวิจัยในโครงการศึกษานิเวศวิทยานกเงือกมาตั้งแต่ปี 2535 ปรีดา เรียนรู้โลกของนกเงือกจากการติดตาม “คุณน้าพิไล” ไปทำงานในที่ต่างๆ จนกระทั่งปี 2537 ทางโครงการศึกษานิเวศวิทยานกเงือก ได้รับรายงานว่ามีการขายนกเงือกหัวแรด บริเวณพื้นที่เทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จึงลงพื้นที่มาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้ร่วมกันอนุรักษ์เพื่อรักษาป่าเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำงานกับชุมชนในพื้นที่เทือกเขาบูโด ปรีดาฝังตัวเป็นนักวิจัยนกเงือกในผืนป่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงทุกวันนี้

          การเป็นคนต่างถิ่นในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ปรีดาต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างความไว้วางใจ ให้ชาวบ้านที่เคยจับนกเงือกขาย กลับใจมาเป็นนักอนุรักษ์ เขาใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัย มาเป็นค่าจ้างเพื่อจูงใจให้ชาวบ้านมาช่วยทำงานวิจัย ระหว่างการทำงานค่อย ๆ ให้ความรู้ ปลูกศรัทธา ให้ชาวบ้านเห็นความงามของชีวิตป่าที่สัมพันธ์กัน ปรีดาเริ่มเข้าถึงใจชาวบ้าน สามารถรวมพลังชาวบ้านทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ร่วมดูแลป่าเทือกเขาบูโด โดยใช้นกเงือกเป็นสะพานเชื่อม จึงเกิดทีมงานผู้ช่วยนักวิจัย 35 คน จาก 7 หมู่บ้าน ของจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

          นอกจากนี้ปรีดายังสร้างกลุ่มผู้ช่วยนักวิจัยรุ่นเยาว์โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งด้านทฤษฎี และปฏิบัติภาคสนาม เช่น การเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การซ่อมแซมโพรงรัง การจัดนิทรรศการ และเป็นพี่เลี้ยงช่วยกิจกรรมในค่ายเยาวชนต่าง ๆ นำเดินป่าศึกษาธรรมชาติ สังเกตพฤติกรรมนกเงือก โดยจัดกิจกรรมเหล่านี้ปีละ 10-15 ครั้ง และด้วยการทุ่มเททำงานแบบเกาะติดพื้นที่ของปรีดาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา มีลูกนกเงือกเกิดใหม่ในป่าบูโดกว่า 600 ตัว ส่งผลให้ปรีดา เทียนส่งรัศมี ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 19 ประเภทบุคคล ประจำปี 2561-2562

จากนักล่ามาเป็นนักอนุรักษ์

          ทีมงานวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยานกเงือกจะทำแผนการเฝ้าระวัง และติดตามสถานภาพการทำรังของนกเงือกในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านผู้เป็นอดีตนักล่านั้นช่วยได้มาก เพราะรู้จักวิธีการสำรวจโพรงรังของนกเงือก และโพรงไม้ธรรมชาติ ทำให้สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของประชากรนกเงือก พวกเขาเดินป่าสำรวจ ตรวจเช็คสถานภาพการทำรังของนกเงือก บันทึกการเข้า-ออกโพรงรัง การประสบความสำเร็จในการทำรัง และ จำนวนลูกนกที่ออกสู่ธรรมชาติ

          การปรับปรุงหรือซ่อมแซมจุดที่เอื้อต่อการทำรัง จะช่วยให้นกเงือกเข้ารังมากขึ้น ในการสำรวจเพื่อซ่อมแซมโพรงรังในธรรมชาติของนกเงือก ต้องปีนต้นไม้สูงกว่า 30 เมตร เป็นต้นไม้ที่มีโพรงตามธรรมชาติที่เหมาะกับการทำรังของนกเงือกซึ่งต้นไม้แบบนี้มีอยู่จำกัด ดังนั้นเพื่อช่วยเพิ่มประชากรนกเงือก จึงมีการติดตั้งโพรงรังเทียมทำจากไฟเบอร์ ถังหมักไวน์ และไม้ เป็นต้น โดยติดตั้งในช่วงหมดฤดูทำรังของนกเงือก แต่ละปีทีมวิจัยจะช่วยกันซ่อมโพรงรังธรรมชาติ และติดตั้งโพรงรังเทียมประมาณ 10-20 รัง ซึ่งรายได้จากการเป็นผู้ช่วยวิจัย สามารถทดแทนรายได้จากการที่ชาวบ้านเคยปีนต้นไม้เพื่อเก็บลูกนกไปขาย พร้อมทั้งคุณค่าทางจิตใจที่เพิ่มเติมมา

อุปการะครอบครัวนกเงือกร่วมกับชุมชนเทือกเขาบูโด

          นกเงือกจะทำรังเพื่อเลี้ยงลูก โดยเริ่มปิดโพรงราวเดือนพฤษภาคม กว่าลูกนกจะออกก็ราวเดือนกันยายน โดยมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกเป็นแบบมีผู้ช่วยหรือญาตินกเงือกทั้งตัวผู้ และตัวเมียมาช่วยเลี้ยง จากจุดนี้เองที่ปรีดาได้ริเริ่มให้มีโครงการ “อุปการะครอบครัวนกเงือก” เพื่อระดมทุน และมอบให้กับครอบครัวผู้ช่วยวิจัยที่ดูแล และติดตามเก็บข้อมูลนกเงือกแต่ละรัง ผู้ดูแลจะส่งรูปภาพพร้อมรายงานสถานการณ์สภาวะครอบครัวนกเงือกให้แก่ผู้อุปการะได้รับทราบทุกระยะ ผู้ที่สนใจร่วมอุปการะครอบครัวนกเงือก สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก โทร 0 22015 532 หรือที่เฟสบุ๊คเพจ THAILAND HORNBILL PROJECT

          จากผู้ล่าสู่ผู้อนุรักษ์ จากทีมงานผู้ช่วยวิจัยกลุ่มเล็ก ๆ ขยายเป็นเครือข่ายชุมชนรอบเทือกเขาบูโด แต่ละชุมชนร่วมกันทำหน้าที่เฝ้าระวัง ดูแลอนุรักษ์นกเงือกในพื้นที่ป่าที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านชุมชนของตนเอง การทำงานเรียนรู้อย่างจริงจังต่อเนื่องของเครือข่ายชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด ทำให้ชาวบ้านสมาชิกกลุ่มมีทั้งประสบการณ์ สามารถให้ความรู้แก่ นักเรียน เยาวชน ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ให้เข้าใจ และเห็นคุณค่าความสำคัญของนกเงือก และป่าไม้ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบให้แก่ ชุมชนอื่น ๆ ในการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.