การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน

 02 ก.ค. 2558 22:04 น. | อ่าน 6422
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

แทบทุกครั้งที่เกิดเหตุร้ายกับครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อมวลชนมักรายงานข่าวในเชิงสถิติ เช่น กรณี คนร้ายลอบยิงนายอับดุลรอฮีม ดือแระ ครูที่ถูกยิงพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านจนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุบนถนนในหมู่บ้านแบรอ ต.หนองแรต อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อเวลา ๑๖.๕๐ น. วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กรณีนี้สื่อมวลชนก็รายงานว่านายอับดุลรอฮีม เป็นข้าราชการครูคนที่ ๑๘๒ ที่เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในรอบ ๑๑ ปี และเป็นคนแรกในปี ๒๕๕๘ ซึ่งการรายงานข่าวแบบนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า ครูอับดุลรอฮีม เสียชีวิตจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ และอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า เป็นความผิดพลาดของชุดคุ้มครองครู ทั้งๆที่เหตุร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ครูอับดุลรอฮีม เสร็จงานที่โรงเรียนเดินทางกลับไปบ้านพักแล้วจึงออกมาทำธุระส่วนตัวกับผู้ใหญ่บ้านก่อนที่จะถูกคนร้ายลอบยิง ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของชุดคุ้มครองครู เลย ซึ่งต่อมาพลโทปราการ ชลสิทธิ์ แม่ทัพภาคที่ ๔ ได้สั่งการให้หน่วยเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเครือญาติและพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งให้เร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง และติดตามตัวคนร้ายที่ก่อเหตุมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

 

ที่กล่าวมาข้างต้นมิได้หมายความว่าชีวิตของครู ไม่มีค่า ตรงกันข้ามครูและบุคคลากรทางการศึกษาทุกคนที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่เสียสละ มีคุณค่าควรแก่การยกย่องเช่นเดียวกับข้าราชการที่ทำงานดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต.ทุกคน แต่มิได้หมายความว่า เหตุรุนแรงทุกครั้งในพื้นที่ เป็นคดีความมั่นคงทั้งหมด ในทุกกรณีสื่อมวลชนควรรอผลการสืบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน ไม่ควรด่วนสรุป หรือรายงานในเชิงสถิติทุกครั้ง เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเคลื่อนได้ อีกทั้งยังจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสียกำลังใจ ตรงกันข้ามสื่อมวลชนควรให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายรวมทั้งอาสาสมัครพลเรือนที่ร่วมกันทำงานเป็นชุดคุ้มครองครู ซึ่งในแต่ละวันต้องใช้กำลังนับหมื่นคนร่วมกันดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับครู ทั้งในระหว่างเดินทางไปกลับจากบ้านพัก ไปยังโรงรียน รวมทั้งดูแลความปลอดภัยในระหว่างสอนหนังสือที่โรงเรียนด้วย เฉพาะอาสาสมัครพลเรือนในแต่ละวันต้องใช้กำลังมากถึง ๒๖,๐๐๐ คน

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลากรทางการศึกษา ในภาคการศึกษาที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ สถานการณ์โดยภาพรวมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เจ้าหน้าที่ทหาร ชุดตรวจคุ้มครองครูโรงเรียนบ้านบองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ก็ถูกผู้ก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ ๔ นาย พร้อมด้วยเด็กนักเรียนหญิงวัย ๙ ปี และ ๘ ปี เหตุเกิดในช่วงเช้าของวันที่ ๒๙ พฤษภาคม และในบ่ายวันเดียวกันพลโทยอดชาย ยั่งยืน รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ ที่โรงพยาบาลนราธิวาส ราชนครินทร์ อำเภอเมือง นราธิวาส

 

เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับชุดคุ้มครองครูโรงเรียนบ้านบองอ สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ รวมทั้งอาสาสมัครพลเรือนที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องเสียสละ เสี่ยงชีวิต ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครูที่ทำงานในพื้นที่ จชต. และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครู ต้องสละชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนไม่น้อยเช่นกัน สื่อมวลชน จึงควรเห็นอกเห็นใจและให้กำลังใจพวกเขา และทุกครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงกับครู รวมทั้งชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ ก็ควรระมัดระวังในการรายงานข่าว ไม่ควรด่วนสรุป และรายงานข่าวที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ต่อเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานอื่นๆที่ร่วมกันดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.