มลายู ลีฟวิ่ง ปัตตานี พื้นที่สร้างสรรค์ปลายด้ามขวานไทย

 17 ก.พ. 2563 15:08 น. | อ่าน 4159
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      เมื่อเอ่ยถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาพส่วนใหญ่ในพื้นที่สื่อถูกจัดเต็มด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน หรือการแสวงหาแนวทางการสร้างสันติภาพ จนแทบลืมไปเลยว่า วิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดไม่ได้มีแค่นั้น โดยเฉพาะความตื่นตัวในเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ซึ่งสวนทางกับความรุนแรง ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วในพื้นที่สามจังหวัดมีศิลปินที่ทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก  งานสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนหนึ่ง จึงตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เพื่อให้ชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ได้ส่งต่อภูมิปัญญา องค์ความรู้ ความสุข เป็นพื้นที่ที่สามารถหลอมรวมให้คนซึ่งมีความคิดดี ๆ ได้มาร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และต้องการให้ภายนอกมีโอกาสรับรู้แง่มุมดี ๆ ท่ามกลางหน้าข่าวที่ลงแต่เรื่องความรุนแรง นี่คือความตั้งใจแรกเริ่มของกลุ่ม มลายู ลีฟวิ่ง จังหวัดปัตตานี
ห้องรับแขกแห่งพื้นที่มลายู

      “มลายู ลีฟวิ่ง” มีความหมายว่า ห้องรับแขกของมลายู กลุ่มได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยเริ่มจากกลุ่มสถาปนิกของภูมิภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในชื่อ ‘กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณเขตภาคใต้ตอนล่าง’ ซึ่งมีอาจารย์วิวัฒน์ จิตนวล เป็นประธานกรรมาธิการฯ ในสมัยนั้น และมีสถาปนิกเป็นสมาชิกหลัก
      เป้าหมายของมลายู ลีฟวิ่ง ตั้งปลายทางไว้ คือการสร้างความเคลื่อนไหว โดยอาศัยความถนัดทางวิชาชีพของตน และความร่วมมือของคนในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ตลอดจนวัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่น โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นในพื้นที่ ทำให้ผู้คนวิชาชีพอื่นๆ ที่สนใจจะเข้ามาร่วมอาสาทำงานตามที่ตัวเองถนัด ทั้งสถาปนิก ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คอลัมนิสต์ ซึ่งมีสถาปนิกทั้งจากยะลา และนราธิวาสมาร่วมด้วย
พลังสร้างสรรค์ขอคืนพื้นที่จากความรุนแรง

      อาคารมลายู ลิฟวิ่งซึ่งใช้เป็นที่ทำการของกลุ่มและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์จัดกิจกรรมต่างๆ นั้น เป็นบ้านเก่าทรงจีนริมแม่น้ำ ซึ่งเดิมเคยเป็นนายอากรผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลของดินแดนแห่งนี้  พื้นที่แห่งนี้จึงได้รับการฟื้นชีวิต กลายเป็นจุดเชื่อมทั้งคนจีน คนไทย คนมุสลิมมาอยู่ร่วมกัน โดยไม่แบ่งแยก ปัจจุบันที่นี่มีสมาชิกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในวัย 25-40 ปี ทั้งหมด 18 คน มีทั้งคนในพื้นที่เดิม รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบจากกรุงเทพฯ แล้วกลับมาทำงานที่บ้าน มี นายราชิต ระเด่นอาหมัด เป็นประธานกลุ่ม 
      ทางกลุ่มมลายู ลิฟวิ่งมีการวางแผนงานรายปี ประกอบได้ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ หลากหลาย เช่น การจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย งานบรรยายด้านสถาปัตยกรรม งานประกวดการออกแบบ กิจกรรมจัดฉายภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ ‘มลายูรามา’  กิจกรรมทำแผนที่ชุมชนเพื่อการพัฒนา และเทศกาลถอดรหัสปัตตานี ซึ่งจะร่วมมือกับชุมชนเปลี่ยนพื้นที่ในเขตเมืองเก่า จังหวัดปัตตานีให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เปลี่ยนภาพลักษณ์ในจินตนาการของผู้คน ที่มีเสียงระเบิด “บูม” (Boom) มาเป็น “บลูม” (Bloom) ที่ ซึ่งเป็นการเบ่งบานของคนทำงานสร้างสรรค์ที่ปรารถนาจะเปลี่ยนการรับรู้ของสังคมภายนอกให้มีโอกาสรับรู้แง่มุมดี ๆ เพื่อสร้างบันทึกบทใหม่ให้กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.