อาสาญาลันนันบารูจิตอาสาภาคประชาชน

 22 ธ.ค. 2560 22:45 น. | อ่าน 9946
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

“ญาลันนันบารู” เป็นภาษายาวีหมายถึงทางสายใหม่ โครงการญาลันนันบารู โครงการดีดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินการมายาวนานถึง 10 ปีแล้ว จึงมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างทางสายใหม่ของผู้ที่เคยหลงผิดจากยาเสพติด โครงการญาลันนันบารู เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดบูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค ๔ ส่วนหน้า  ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของปัญหายาเสพติดว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยนำเยาวชนในพื้นที่อายุ 9-14 ปี เข้ามาอบรมและให้ความรู้เพื่อให้เยาวชนรู้จักพิษภัยของ ยาเสพติดและไม่หลงเดินทางผิดไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และมีการจัดตั้งปอเนาะญาลันนันบารูขึ้นที่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นสถานที่บำบัดฟื้นฟูจิตใจให้ผู้เคยหลงผิดเสพยาเสพติด

สถาบันการศึกษาเพื่อหนทางใหม่ในชีวิต

      โครงการญาลันนันบารู เริ่มต้นจากโครงการป้องกันยาเสพติด กลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่ถึงสามแสนคน  โดยเน้นเยาวชนนอกระบบการศึกษา จากนั้นจึงขยายงานมาที่กลุ่มเยาวชนหญิงกับญาลันนันบารูหญิง และเด็กเล็กกับญาลันนันบารูจูเนียร์ต่อยอดไปสู่การแก้ไขฟื้นฟูผู้ที่เคยติดยาเสพติดที่ “ปอเนาะญาลันนันบารู”คือสถาบันการศึกษาและปฏิบัติธรรมในศาสนาอิสลามเพื่อหนทางใหม่ในชีวิต มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคง เป็นสถานที่ฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งใช้หลักศาสนาอิสลามเป็นแนวทางในการบำบัด ให้ผู้เคยหลงผิดได้ตระหนักต่อบาปที่ตนเองเคยไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่กลับไปอยู่ในวังวนนั้นอีก เพราะสำหรับชาวมุสลิม ศาสนาคือพลังผลักดันในการดำเนินชีวิตที่ครอบคลุมพฤติกรรมในทุกด้าน นับตั้งแต่เกิดจนสิ้นลมหายใจ โดยยึดหลักจากคัมภีร์อัลกฺรอ่านเป็นธรรมนูญในการปฏิบัติ

จิตอาสาญาลันนันบารู เกราะป้องกันภัยยาเสพติด

      การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน   จากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาการเรื้อรังของสถานการณ์ยาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น พบว่าผู้ที่เคยได้รับการบำบัดแล้ว มักจะกลับไปติดยาเสพติดอีกครั้ง สาเหตุเกิดมาจากการที่พวกเขานั้นไม่ได้การยอมรับและให้โอกาสจากสังคม    แต่สำหรับผู้ที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจจากปอเนาะญาลันนันบารูมักจะได้รับการยอมรับจากสังคมและชุมชนเป็นอย่างดี เนื่องจากในแต่ละชุมชนของผู้ที่บำบัดจะมี ”อาสาญาลันนันบารู” จิตอาสาจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่เป็นกลไกทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดชุมชน
      บทบาทหน้าที่ของอาสาญาลันนันบารู จะเป็นทั้งผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติดให้กับผู้ปกครองและเยาวชนในพื้นที่พร้อมกันนั้นก็จะคอยสอดส่องดูแลว่าครอบครัวใดมีผู้ที่มีความเสี่ยงในการเสพยาเสพติด ก็จะแนะนำและประสานงานให้ได้รับการบำบัดที่ปอเนาะญาลันนันบารูเมื่อผู้หลงผิดผ่านการบำบัดร่างกายและฟื้นฟูจิตใจจากปอเนาะแล้ว จิตอาสาก็ยังเป็นผู้ให้กำลังใจให้เยาวชนเหล่านี้มองเห็นคุณค่าของตัวเองและชี้แนะแนวทางการทำงาน การอยู่ร่วมกันกับคนในสังคม เข้าใจบทบาทหน้าที่ของความเป็นพลเมืองในสังคม  ไม่หันกลับไปติดยาเสพติดอีกเลย

น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน

      การทำงานของอาสาญาลันนันบารู ใช้หัวใจของความเป็นจิตอาสา ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ให้ความรู้และความเข้าใจถึงพิษภัยของยาเสพติด ช่วยเหลือให้ได้รับการบำบัดและหากิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับหมู่เยาวชน    พวกเขาได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่เคยสอนให้ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน มีใจความว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ ฉันมีแต่ความสุขที่ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเท่านั้น” ปัจจุบันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจิตอาสาญาลันนันบารูมากถึง 3,000 คน และในอนาคตจะขยายให้ถึง 20,000 คน ครอบคลุมในทุกๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ภาคประชาชนเป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนของตนเอง โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
      จิตอาสาญาลันนันบารู ซึ่งเป็นอาสาสมัครภาคประชาชน เป็นคนในพื้นที่มีทั้งคนที่ลูกหลานเคยติดยาเสพติด     บางคนไม่มีคนในครอบครัวติดยาเสพติด และพ่อแม่ถูกฆ่าจากคนที่ค้ายาเสพติด  จึงเป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจบริบทของชุมชนดีที่สุดและสามารถเข้าถึงคนในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ทุกคนทำงานอาสาด้วยจิตใจศรัทธาที่อยากจะช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างแท้จริงทุกคนทำงานอาสาด้วยจิตใจศรัทธาที่อยากจะช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างแท้จริง ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดีทั้งจากกลุ่มเยาวชนและผู้ปกครอง จิตอาสาเหล่านี้ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆนอกจากความสุขใจที่ไม่สามารถบรรยายได้จากการช่วยเหลือผู้อื่น และเห็นลูกหลานของตนเองปลอดภัยจากยาเสพติดซึ่งนอกจากบทบาทในการทำงานป้องกันและแก้ไขดูแลในระดับครัวเรือนแล้ว ยังมีกลไกการสร้างเวทีประชาคมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน และก่อเกิดเป็นกองทุนในการทำงานอีกด้วย

บูรณาการความร่วมมือ

      หน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลชุมชนของตนเอง ไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ ทำลายอนาคตของลูกหลาน ไม่เพียง  แต่ปัญหายาเสพติด แต่เมื่อประชาชนให้การยอมรับและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเป็นหูเป็นตาอย่างแท้จริง  ประชาชนอยากแก้ไขปัญหา ภาครัฐก็อยากช่วยแก้ไขปัญหา  เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยการอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ตามยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ได้อย่างแท้จริง

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.