"กาวันกีตอ" ครอบครัวสื่อศานต์สุข สู่สันติสุขของชุมชน จุดเริ่มต้น "กาวันกีตอ"

 22 ธ.ค. 2560 22:39 น. | อ่าน 4072
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ในพื้นที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ไม่มีใครไม่รู้จักกลุ่มกิจกรรมที่ชื่อว่ากาวันกีตอ(KAWANKITA)   กลุ่มหนุ่มสาวคนทำงานจิตอาสาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งเกิดจาก   การรวมกลุ่มเยาวชนที่เป็นนักศึกษาเมื่อปีพ.ศ. 2549 โดยมีแนวคิดต้องการนำประสบการณ์การทำงานวิจัย ของตนเองมาใช้ในการทำงานพัฒนาสังคม แน่นอนว่าสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น     มีปัญหาและอุปสรรคมากมายหลายด้านพวกเขาต้องเผชิญหลายด้าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาถอดใจ ในการทำงาน
      จากจุดเริ่มในปี 2549 ต่อมาในปี พ.ศ.2550 กลุ่มกาวันกีตอได้รับการพัฒนาศักยภาพจากโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาพหุวัฒนธรรมปาตานีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและก้าวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมความเป็นธรรมในสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่โดยมีแนวคิดที่เป็นเป้าหมายสำคัญคือ “เพื่อให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้อยู่ดี กินดี ไม่มีภัย เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และพึ่งตนเองได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบุคคลกลุ่มใด”โดยมีรูปแบบการขับเคลื่อนงานพัฒนา ใช้การจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึก ความเป็นธรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมเชื่อมประสานให้เกิดเครือข่ายการทำงานในลักษณะพหุภาคียึดแนวทางการมีส่วนร่วมและการบูรณาการชุมชนเป็นสำคัญ
      กิจกรรมในช่วงแรกของกลุ่มคือการให้ความรู้ทางกฎหมาย เพราะเมื่อปี พ.ศ.2549 มีการเริ่มใช้พระราชบัญญัติกฎหมายพิเศษในพื้นที่ แต่ประชาชนยังไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมาย พวกเขาจึงเป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้ด้านกฎหมายให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น  และทำให้ประชาชนได้เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญมีการผนวกเข้ากับเนื้อหาหลักคำสอนของศาสนาอิสลามด้วย

ก่อเกิดโครงการครอบครัวสื่อศานต์สุข
      นักศึกษากลุ่มกาวันกีตอได้ร่วมงานกับภาครัฐและเอกชนทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมมากมายหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการระงับข้อพิพาททางกฎหมาย การเผยแพร่พหุวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และจากประสบการณ์มากมายที่พวกเขาได้เข้าถึงผู้คนในชุมชนต่างๆ  ทำให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวโดยทางกลุ่มได้ทำการเก็บข้อมูลในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าแม้ครอบครัวจะเป็นหน่วยเล็กที่สุดในสังคมแต่ก็มีความสำคัญ และครอบครัวในพื้นที่ร้อยละ 70 มีปัญหาครอบครัวทั้งในเรื่องความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ลูก ความขัดแย้งระหว่างสามีกับภรรยาซึ่งสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดปัญหาก็คือการไม่พูดคุยสื่อสารกัน และพวกเขามองเห็นว่าปัญหาจะหมดไปได้หากสมาชิกในครอบครัวสามารถพูดคุยสื่อสารกันได้อย่างสร้างสรรค์ ทางกลุ่มจึงนำเอาแนวคิดในเรื่องของ “กาวัน” ซึ่งหมายถึงความเป็นเพื่อน ความเป็นมิตรที่ดีต่อกัน มาใส่ในเรื่องการสื่อสารอย่างสันติวิธี มีความจริงใจในการพูดคุยกัน เพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจอันเป็นที่มาของโครงการ “ครอบครัวสื่อศานต์สุข”

ประสบการณ์วิจัยสู่การพัฒนาครอบครัวสื่อศานต์สุข
      กลุ่มกาวันกีตอได้นำเอาประสบการณ์ในการทำงานวิจัยของสมาชิกกลุ่มมาใช้ในการดำเนินงานโครงการครอบครัวสื่อศานต์สุข โดยพวกเขาเริ่มดำเนินการด้วยการลงพื้นเพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูล แล้วนำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ในแต่ละครอบครัวมาออกแบบกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกทุกคนโดยก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรม ทางกลุ่มใช้เวลาเตรียมชุมชนอยู่ 1ปี มีการประชุมทีม ประชุมกับอำเภอ ประชุมกับผู้นำ เตรียมหลักสูตรกับผู้เชี่ยวชาญ แล้วจึงจัดอบรมขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยให้สมาชิกทุกคนทุกช่วงวัยในแต่ละครอบครัวเข้าร่วมได้ทั้งหมด  ทำให้ทีมวิทยากรสังเกตเห็นว่าระหว่างการทำกิจกรรมสมาชิกในครอบครัวมีปฏิกิริยาต่อกันอย่างไร และระหว่างการอบรมวิทยากรก็จะเสริมให้แต่ละครอบครัวรู้ว่าครอบครัวของตนเองมีอะไรที่เป็นจุดแข็งมีอะไรที่เป็นจุดอ่อน และจะสามารถเสริมสร้างพลังเพื่อให้จุดอ่อนหายไปได้อย่างไร

      เมื่อการอบรมเสร็จสิ้นลง ทางกลุ่มได้ทำการติดตามประเมินผลโดยทางกลุ่มจะลงไปเยี่ยมเยือนครอบครัวของ  ผู้ที่ผ่านการอบรมที่บ้าน อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันลึกซึ้งในฐานะญาติมิตรนอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมในแต่ละหมู่บ้านเพื่อสอบถามผลที่เกิดขึ้นจากการอบรม
      ทุกวิธีที่กลุ่มกาวันกีตอนำมาใช้ดำเนินงานโครงการครอบครัวสื่อศานต์สุขได้ทำให้เห็นว่าพวกเขานำเอาความรู้ความสามารถเรื่องการวิเคราะห์และประเมินผลมาใช้ในการออกแบบกิจกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อคนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมแล้วจะเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย นั่นก็คือคนในครอบครัวมีปัญหากันน้อยลงจนกระทั่งเกิดความอบอุ่น และครอบครัวนั้นสามารถขยายไปสู่รอบข้างได้

ครอบครัวอันอบอุ่นคือผลสำเร็จ
      เมื่อสมาชิกทุกรุ่นทุกวัยในครอบครัว ได้มีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากขึ้น และมีวิธีการสื่อสารอย่างสันติไปใช้จริงในครอบครัว ได้ส่งผลทำให้บรรยากาศในครอบครัวเกิดความอบอุ่น ลูกสามารถเปิดใจกับพ่อแม่ได้มากขึ้น สามีภรรยาไม่ทะเลาะกัน ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยเริ่มจากหน่วยเล็กๆ คือครอบครัวของทุกคน

ทุกความร่วมมือคือปัจจัยความสำเร็จ

      การทำงานของกลุ่มกาวันกีตอซึ่งเริ่มจากชุมชนเล็กๆ ของตนเอง ปัจจุบันได้มีการขยายไปยังพื้นที่อื่น   ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาต้องอาศัยการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคประชาชน และจากหน่วยงานของรัฐในการสร้างความน่าเชื่อถือ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จะมาร่วมกิจกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งพวกเขาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งการสนับสนุนนั้นทำให้ชาวบ้านมองเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญจึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดแรงจูงใจที่จะแก้ปัญหา

จากครอบครัวอบอุ่นสู่สันติสุขในพื้นที่

      จากการที่กลุ่มกาวันกีตอซึ่งเป็นเยาวชนที่เกิดและเติบโตในพื้นที่นั้นขับเคลื่อนการทำงานเอง โดยมี  ภาคประชาชนทุกคนในพื้นที่ช่วยสนับสนุน นอกจากจะทำให้บ้านเกิดของตนเองพัฒนาแล้ว คนในชุมชนยังนำเอาแนวทางการสื่อสารอย่างสันติไปใช้สื่อสารกับผู้อื่นที่พบเจอกันในชีวิตประจำวันนอกเหนือจากคนในครอบครัว เมื่อทุกคนมีความเข้าใจความต้องการของตนเอง และเข้าใจความต้องการผู้อื่นแล้วสามารถสื่อสารอย่างสันติโดยไม่มีความขัดแย้ง สังคมก็จะมีแต่รอยยิ้มและนำมาซึ่งความสงบสุข และสันติสุขอย่างแท้จริง
*ติดตามข่าวสารและกิจกรรมของกลุ่มกาวันกีตอได้ที่หน้าเพจเฟสบุค Kawankit

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.