เส้นทางที่ทอดยาวของการค้ามนุษย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 13 ก.พ. 2560 07:07 น. | อ่าน 5620
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ปัญหาการค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ถือเป็นปัญหาร้ายแรงระดับโลก จากภาพข่าวแต่ละครั้งที่เปิดเผยให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ถือเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษยชาติ ร้ายแรงไม่แพ้สงครามเลยทีเดียว และหากจะวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ ล้วนเกี่ยวข้องกับทั้งบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างแยกกันไม่ออก สิ่งหนึ่งเกี่ยวพันและส่งผลกระทบต่ออีกสิ่งหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือ ปัญหาการค้ามนุษย์นั้น มีลักษณะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เกิดจากปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองระดับประเทศ โครงสร้างสังคมแบบทุนนิยม ที่นำมาซึ่งช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาความยากจน การกระจายรายได้และความเจริญที่ไม่เท่าเทียมทั่วถึง ฯลฯ 

ปัญหาการค้ามนุษย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
      ประเทศไทย มีการดําเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด ทั้งโดยภาครัฐและองค์กรภาคประชาชน แต่ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยกลับมิได้คลี่คลาย แต่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นปะทุออกมาให้เห็นเป็นลําดับ พื้นที่ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์ มีความรุนแรงปะทุขึ้นให้เห็นชัดเจน จนกลายเป็นประเด็นระดับชาติ ได้แก่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย มีจุดผ่านแดนถาวรที่ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติ สามารถเดินทางผ่าน เข้า-ออก เป็นจำนวนมาก เช่น กัมพูชา พม่า และลาว เดินทางเข้าไปประกอบอาชีพในประเทศมาเลเซีย ประกอบกับที่มีชาวมาเลเซียและประชาชนทั่วไป มักเดินทาง เข้า-ออก เพื่อไปท่องเที่ยวจำนวนมาก ตลอดจนมีประชาชนจากต่างพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอื่น ๆ เดินทางมาทำงานในสถานประกอบการ ได้แก่ ร้านคาราโอเกะ ร้านอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายด้านแรงงาน และการค้าประเวณี  เป็นจุดเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งมาจากการล่อลวงหลายรูปแบบ เช่น ล่อลวงนำไปค้าประเวณีนอกราชอาณาจักร การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ขบวนการค้าหญิงสาวชาวไทย ลาว พม่า และจีนฮ่อ ส่งขายชายแดน บ้างก็ส่งไปขายบริการทางเพศในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ที่เรียกกันว่า ขบวนการค้า “ลูกหมู” คือ ขบวนการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับชาวจีน และขบวนการค้า “ลูกแพะ” คือ การค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับคน “มุสลิม”
      ปัญหารุนแรงอีกด้าน คือ การค้าแรงงาน ซึ่งการส่งแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปขายแรงงาน ยังประเทศมาเลเซีย และมีการหลอกลวง ลอยแพ คนงาน ไปจนถึงปัญหา “แรงงานทาส” คือ การหลอกลวง และจับตัวแรงงาน ทั้งที่เป็นคนไทย และ พม่า ลาว เขมร ส่งขายให้กับเรือประมง เพื่อเป็นแรงงานทาส หรือการบังคับใช้แรงงานเด็ก หรือคนชรา ด้วยการนำมาทำงานบริการ หรือเป็นขอทาน การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือ ขบวนการต้มยำกุ้ง ซึ่งนายหน้าเรียกเก็บเงิน และหลอกลวงว่าจะส่งไปทำงานร้านอาหารไทย ในมาเลเซีย

ร่องรอยโศกนาฏกรรมค้ามนุษย์ข้ามชาติที่พาดผ่านแผ่นดินไทย
      เหตุการณ์สำคัญที่กะเทาะเปลือกปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และยกระดับเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เริ่มจากต้นปี พ.ศ.2556 ชุดปฏิบัติการขจัดภัยแทรกซ้อนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กองทัพภาคที่ 4 ที่ ได้สนธิกำลังจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าช่วยเหลือ “ชาวโรฮิงญา” ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำมากักขังควบคุมตัวไว้ เพื่อรอส่งไปยังประเทศที่ 3 ได้จำนวนกว่า 400 คน และต่อมา ยังสืบสวนขยายผลตรวจค้น ยังพบว่ามีชาวโรฮิงญาถูกกักขังไว้ในพื้นที่ต่างๆ ใน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา อีกหลายแห่ง รวมแล้วพบว่า มีชาวโรฮิงญาถูกกักขังกว่า 700 คน ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ในเดือนพฤษภาคม ปี 2558 เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดหดหู่และสยดสยอง เมื่อมีการพบสุสานฝังศพชาว "โรฮิงญา" และแคมป์ร้าง และศพคนตายใหม่ๆ ซึ่งคาดว่าจะป่วยตาย บริเวณเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และส่งผลกระทบให้ประเทศไทย สูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง ทำให้ประเทศไทยถูกมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) จับตามองมากยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งสำนักงานเพื่อการติดตามและการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) ที่ลดระดับความพยายามในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยให้ไปอยู่ "เทียร์ 3" ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุดของบัญชีค้ามนุษย์ 

Image credit : http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2015/07/p0103290758p1.jpg

      จากปัญหาด้านชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศเมียนมาร์ ที่นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงยา หรือ “อาระกัน” ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ตั้งแต่ปี 2553 ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ หลบหนีการทารุณและความยากแค้น เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อไปยังประเทศที่สาม มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเส้นทางหลบหนีนั้น จะต้องผ่านประเทศไทย โดยผ่านชายแดนไทยด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา บางส่วนอาจจะหลบหนีออกไปทางชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และชายแดนด้านอื่นๆ บ้าง เป็นจุดกำเนิดของขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มต้นจากการ “รับจ้าง”นำชาวโรฮิงญาจากประเทศพม่าเข้ามาประเทศไทย และต่อมาพัฒนาการค้ามนุษย์ไปเป็นลักษณะกินสองต่อ โดยรับเงินค่าจ้างในการนำชาวโรฮิงญาหลบหนีจากประเทศพม่าแล้ว ยังทำการกักขังควบคุมตัวชาวโรฮิงญาเอาไว้ในสถานที่แนวชายแดน เพื่อขายให้กับผู้ต้องการแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาใช้เป็นแรงงานราคาถูก นายทุนจะกดขี่ได้ตามชอบใจ เพราะไม่กล้าหลบหนี

Image credit: http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2015/05/p0103070558p2.jpg

      สถานการณ์ล่าสุด ยังคงมีเหตุการณ์การจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นประเด็นความร่วมมือ ในการเฝ้าระวังป้องกันของรัฐบาลไทยและมาเลเซีย  แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นช่องที่ทำให้ขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ ยังลงมือได้กับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นคนชราและเด็ก โดยหลอกเอาเงินค่าวิ่งเต้นหลายหมื่นบาท ให้ไปขายของในประเทศมาเลเซีย และเป็นที่มาของเหตุการณ์จับ 21 คนไทยในมาเลเซีย ทาง ศอ.บต.ได้เดินทางไปติดตามและให้ความช่วยเหลือ และพบอีก 177 หญิงไทยเหยื่อค้ามนุษย์ จนต้องประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่าหลงเชื่อบุคคลที่มาชักชวนให้เข้าไปทำงานในมาเลเซียอย่างเด็ดขาด หากไม่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งถ้าวิเคราะห์ที่สาเหตุของเหตุการณ์เหล่านี้ ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ก็ยังไม่หมดสิ้นไปง่ายๆ ตราบใดที่ปัญหาพื้นฐานเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการเมือง ทั้งภายในและระดับภูมิภาค ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.