รัฐ และราษฏร์รวมพลังช่วยน้ำท่วมใต้

 02 ก.พ. 2560 17:14 น. | อ่าน 2834
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ที่ก่อเค้ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และเริ่มมีปริมาณฝนตกอย่างหนัก ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2559 ดำเนินมาต่อเนื่องยาวนานจนย่างเข้าปีใหม่ ช่วงเวลาที่ควรเป็นเทศกาลรื่นเริงของชาวใต้ ต้องแปรเปลี่ยนเป็นความระทมทุกข์ แบบที่ยังไม่มีใครตั้งตัวได้ทัน จนรัฐบาลต้องประกาศยกระดับการจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 โดยได้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติส่วนหน้าขึ้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

บูรณาการทุกภาคส่วน แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
      ท่ามกลางฝนที่ตกกระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตา ระดับน้ำท่วมขึ้นสูง เกิดเป็นน้ำป่าไหลหลาก กระแสน้ำเชี่ยวกรากบ่าท่วมบ้านเรือน 2 แสนครัวเรือน เส้นทางถูกตัดขาด เสี่ยงภัยกับดินโคลนถล่ม กระทบชาวบ้านเกือบล้านชีวิต ใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ กองทัพภาคที่ 4 ในฐานะหน่วยงานหลักในพื้นที่ จึงได้รับบทบาทในการร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้วยการบูรณาการทั้งคนและเครื่องมือ ระดมสรรพกำลังลงไปช่วยเหลือประชาชน
      พล.ท. ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารทุกหน่วย ระดมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดนประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมูลนิธิ และภาคประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย พลเรือน, ตำรวจ, ทหาร ทำให้เกิดภาพความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่ามกลางวิกฤติการณ์

ภารกิจในสถานการณ์วิกฤติ
      ภารกิจหลักสำคัญของเหล่าทัพ ที่ถูกกำหนดโดยสถานการณ์อันวิกฤติ กำลังพลทุกหน่วยต้องออกสำรวจและช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่เข้าถึงได้โดยรถขนาดใหญ่ มีพื้นที่สูงเป็นศูนย์พักชั่วคราวได้แต่ขาดเสบียงอาหาร แต่ต้องใช้เรือยนต์ รถยก เข้าช่วยเหลือและลำเลียงประชาชนที่ติดค้างในบ้านพัก หรือผู้ได้รับบาดเจ็บให้ออกมาโดยเร็วที่สุด และพื้นที่ที่ถูกตัดขาดเพราะน้ำท่วมสูงมาก น้ำป่าไหลหลากเส้นทางเสียหายอย่างหนัก รถไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ออกบินลาดตระเวนค้นหาผู้ติดค้าง พร้อมแจกจ่ายเสบียงอาหาร อาหารปรุงสำเร็จ ยารักษาโรคและสิ่งของจำเป็นให้แก่ชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  

      กองทัพบกได้เปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัย และจัดกำลังพลกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย ลงไปช่วยเหลือในทุกพื้นที่ และอพยพประชาชนในพื้นที่ที่มีความจำเป็น โดยจัดยานพาหนะรถยนต์ขนาดใหญ่ เรือท้องแบน อากาศยาน ขนย้ายสิ่งของ แจกอาหารสด อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค และสุขาเคลื่อนที่ จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ เข้าเยี่ยมเยียนประชาชน เปิดครัวสนามกองทัพบก ปรุงอาหารสดแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ส่วนพื้นที่ที่ถูกตัดขาด ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถ หรือแม้แต่เรือท้องแบน ก็ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะน้ำไหลเชี่ยว จำเป็นต้องใช้อากาศยานขนส่งลำเลียงเสบียงอาหารทั้งสดและแห้งไปให้ในพื้นที่ ท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้ขึ้น ฮ. สำรวจพื้นที่ พร้อมนำอาหารแจกจ่าย จังหวัดพัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ด้วยตัวท่านเอง
 

ภาพ : เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังช่วย แม่-ทารกแรกเกิด ติดอยู่ภายในบ้านพัก อ.รือเสาะ หลังฝนตกหนัก น้ำท่วมสูง ออกมาได้อย่างปลอดภัย

      ส่วนการแก้ไขปัญหาเส้นทางสำคัญที่ถูกตัดขาด ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกรมการทหารช่าง (ศบภ.กช.) ได้จัดเตรียมเรือท้องแบน สะพานหนุนมั่น 84A, สะพานหนุนมั่น MFB, สะพาน M4 และสะพานแบรี่ M2 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยการติดตั้งสะพานให้ใช้สัญจรได้ชั่วคราว
      กองทัพเรือ ได้สั่งการให้เรือหลวงอ่างทอง เป็นหมู่เรือบรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ นำกำลังพล และยุทโธปกรณ์ เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ควบคู่ไปกับการใช้เรือผลักดันลงทะเล เพื่อเร่งให้ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วที่สุด
 

ภาพ : ทร.ติดตั้งเรือผลักดันน้ำจำนวน 30 เครื่องเร่งระบาย  

      ในส่วนของ กองทัพอากาศ ก็ได้จัดส่งเครื่องบิน C130 ลำเลียงถุงยังชีพและเรือท้องแบนจากส่วนกลาง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบน พร้อมด้วยอาสาสมัครภาคประชาชนช่วยกันนำสิ่งของข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำดื่มไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุด
 

ภาพ : ปฏิบัติการ "ครัวลอยน้ำ อาหารลอยฟ้า"  

ส่งต่อสายธารน้ำใจ
      เหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ กองทัพภาคที่4 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาพระราชทานถุงยังชีพให้กองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการแจกจ่ายพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย 
      พลังน้ำใจที่หลั่งไหลจากภาคประชาชนทั้งประเทศ และในพื้นที่ภาคใต้เองในส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบต่างหลั่งไหลสู่พี่น้องที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นข้าวของเสบียงอาหารแห้ง ยารักษาโรค เป็นหน้าที่หลักของกองทัพในส่งขนส่งลำเลียง ส่งต่อความช่วยเหลือ
 

ภาพ : กองทัพอากาศ ขนถุงยังชีพพระราชทาน 500 ชุด เรือท้องแบน 20 ลำ และอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้น C130 ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคใต้  

      เราได้เห็นภาพความร่วมมือจากภาคประชาชน อย่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านใน อ.ปากพนัง พร้อมเรือประมงพื้นบ้านจำนวนกว่า 100 ลำ รวมตัวจอดเรือเรียงแถวเป็นแนวเดียวกันเช่นเดียวกับเครื่องผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ได้เห็นภาพน้ำใจของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.กาบัง จ.ยะลา ที่ได้ร่วมกันบริจาคข้างของให้กับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับครอบครัวกำลังพลที่มาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ ตลอดจนชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบภัยน้ำท่วม
      ทว่าอุทกภัยยังนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งภาคประชาชน ที่มียอดผู้เสียชีวิตมากถึง 90 ราย สูญหายอีก 4 ราย และในส่วนของเจ้าหน้าที่กองทัพบกได้สูญเสีย พ.ท.ธีรพล เทียนโพธิวัฒน์ หรือผู้พันบอม อายุ 40 ปี ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 5 กองพลทหารราบที่ 5 จากการประสบอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำ ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะเดินทางกลับจากช่วยเหลือน้ำท่วมที่ อ.ชะอวด เหตุเกิดเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ขอแสดงความเสียใจและกำลังใจให้ครอบครัวของมา ณ ที่นี้
 

ภาพ : พ.ท.ธีรพล ขณะลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม โดยเป็นทีมสร้างสะพานเบลีย์ บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน (ภาพจาก ช.พัน5)  

      ณ วันนี้ สถานการณ์อุทกภัยยังไม่ทันสิ้นสุด ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังจมอยู่ใต้น้ำ ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงผลกระทบทางด้านจิตใจ ที่ต้องเยียวยากันอีกนาน โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ ได้เดินทางไป จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยและมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา ทั้งนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวให้กำลังใจประชาชนผู้ประสบภัย รวมทั้งทหารตำรวจที่ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ พร้อมทั้งให้แนวทางในการฟื้นฟู โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องทำหน้าที่บูรณาการร่วมกันดูแลด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของการเกษตร ถนนเส้นทางที่ซ่อมแซม และการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อ เพื่อไม่ให้ถนนเพชรเกษมประสบปัญหาน้ำท่วมอีก ส่วนของกลาโหม ทหาร พลเรือน อาชีวะ จะเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างการซ่อมแซมบ้าน และการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป ให้ยึดหลักแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
 

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.