WO-MANIS อาภรณ์แห่งความหวัง

 04 ต.ค. 2559 16:06 น. | อ่าน 3388
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      SOCIAL ENTERPRISE หรือกิจการเพื่อสังคม อาจจะเป็นคำใหม่แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมโลก จากเดิมองค์กรทางสังคมมีการแยกชัดว่าเป็นองค์กรภาครัฐ - องค์กรภาคเอกชน และในส่วนองค์กรภาคเอกชน ยังแบ่งชัดเจนว่าเป็นองค์กรธุรกิจ เพื่อแสวงหาผลกำไรเข้าองค์กร เจ้าของธุรกิจ-ผู้ถือหุ้นโดยตรง หรือจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งทำงานพัฒนาสังคมโดยไม่หวังผลกำไร แต่ก็ต้องทำการระดมทุนหรือหาแหล่งทุนสนับสนุน กิจการเพื่อสังคม คือองค์กรที่อยู่ระหว่างกลางของทั้งสองด้านนี้ คือเป็นองค์กรที่ดำเนินการทางธุรกิจโดยมีเป้าหมาย เพื่อนำรายได้ส่วนใหญ่มาสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม หรือดำเนินการเพื่อให้เกิดผลกระทบในการสร้างสรรค์สังคม โดยมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย ในประเทศไทย มีองค์กรลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย บ้างอยู่ยืนยาว บ้างเลิกราไป แต่ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นด้วยเจตนาอันดีที่หวังจะมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
      “WO-MANIS” คือ หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมน้องใหม่วัยเตาะแตะเพียงสองปี ที่ผลกำไรไม่ใช่เพื่อธุรกิจ แต่คือ เรียกรอยยิ้มและความสุขให้กับสตรีหม้ายในดินแดนปลายด้ามขวาน แรงขับเคลื่อน คือ “ใจ” และไม่เคยนิยามว่านี่คือ "ธุรกิจ" หรือ "กิจการเพื่อสังคม" เพียงแต่เป็นความตั้งใจของเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่อยากมีส่วนเยียวยาปัญหาในบ้านเกิดของพวกเขาเท่านั้น
      กลุ่มเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหา คือ สตรีหม้ายมากกว่า 6,000 ราย ที่ต้องสูญเสียสามี ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวไป และยังต้องแบกรับภาระทั้งหมดเพียงลำพัง ซึ่งเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก สำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว อีกทั้งยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจ กลุ่มผู้ก่อตั้ง คือ เยาวชนในท้องถิ่น เกิดความคิดที่จะนำเทคโนโลยี สื่อ social media มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่สตรีหม้าย โดยสนับสนุนในจุดแข็งของกลุ่มสตรีหม้าย คือ ฝีมือในการตัดเย็บ ปักลายผ้า

      “WO-MANIS” เป็นภาษามาลายู ออกเสียงว่า “วู้-มานิส” โดย “วู้” ก็เป็นคำอุทาน ส่วน “มานิส” แปลว่า ความหวาน อ่อนช้อย เป็นสเน่ห์ของผู้หญิง ขณะเดียวกันยังสามารถออกเสียงในภาษาอังกฤษได้ว่า “วูแมน อีส” อันสะท้อนคำจำกัดความของผู้หญิง เช่น woman is powerful , woman is beautiful กลุ่มผู้ก่อตั้งเป็นเป็นเยาวชนที่เกิดและเติบโตใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เด็กสาวรุ่นใหม่ 3 ชีวิต “อัสมา นาคเสวี” ผู้ก่อตั้ง “นัซนีน นาคเสวี” และ “ภูวิชชา สาเมาะ” ผู้ร่วมก่อตั้ง “วู้-มานิส” (WO-MANIS) กิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ “เริ่มจากเราเห็นปัญหาของสตรีที่ต้องสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ เลยมาคิดว่าพอจะทำอะไรที่จะช่วยสตรีหม้ายเหล่านี้ได้บ้าง พบว่าสิ่งที่เขาทำได้ คือ ผ้าคลุม ฮิญาบ เลยเริ่มจากซื้อผ้าไปให้เขาเย็บ จากนั้นก็เอาไปขายในเฟชบุ้ค ปรากฎว่าขายดี พอเริ่มมีกำไร ก็คิดว่าน่าจะเอากำไรนั้นไปทำประโยชน์ เลยซื้อขนม อุปกรณ์การเรียน ไปแจกเด็กๆ ที่กำพร้า”
      สิ่งที่ทำเริ่มจากใจที่อยากจะช่วยล้วนๆ ไม่ได้มีต้นแบบ ไม่ได้มีตำรา ไม่รู้วิธีการ อาศัยแค่ทำไปตามสัญชาตญาณเท่านั้น จนเมื่อได้เข้าร่วมโครงการ "Young Social Entrepreneur Camp" ของ อโชก้า ประเทศไทย และไปออกค่ายเพื่อเรียนรู้กิจการเพื่อสังคม จึงพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ทำขึ้นมาจนเป็น WO-MANIS อย่างในวันนี้ และพัฒนาปรับปรุงไอเดียจนได้เป็น 1 ใน 11 ทีม ที่ร่วมโครงการ "พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม" (BANPU Champions for Change) ในปี 2014 ได้รับเงินลงทุนมาเดินหน้ากิจการ เป็นจำนวน 5 หมื่นบาท 
      การดำเนินงานของกลุ่มได้พัฒนาต่อไป โดยใช้แนวทางการประสานความร่วมมือจากเหล่าดีไซเนอร์จิตอาสา ที่เป็นทั้งนิสิตในมหาวิทยาลัย และคนที่ทำงานออกแบบ ให้มาช่วยปล่อยพลังไอเดีย ทำให้ผลงานจากชาวบ้านดูสวยงามและโดดเด่นขึ้น และออกแบบลวดลายให้เป็นเอกลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิตของชาว 3 จังหวัด สินค้าจึงมีเรื่องราว เน้นเรื่องดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมด้วยคุณภาพที่ดี สร้างความแปลกใหม่และเกิด “ยูนีค” ให้กับสินค้า
      “WRAP WOMAN WITH HOPE” สโลแกนของ WO-MANIS นับเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อท้องถิ่นของตนต่อไป ด้วยความหวังให้ปลายด้ามขวานทองของไทย มีสุขสันติในที่สุด โลโก้ที่เป็นรูปหญิงสาวเป็นตัวแทนของสตรีหม้าย ที่มีทั้งไทยพุทธและมุสลิม ใบหน้าที่รวมกัน เพื่อที่จะสื่อว่า เราอยู่ด้วยกันได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ติดตามผลงานและอุดหนุนสินค้าที่สามารถใช้ได้ทั้งเป็นผ้าคลุมศีรษะหรือผ้าพันคอ ได้ที่ https://www.facebook.com/WOMANISSCARF/

ที่มา
https://www.schoolofchangemakers.com/project/44/WO-MANIS/about
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/536906
http://womanis.herokuapp.com/

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.