วัฒนธรรมผ้าทอ จังหวัดชายแดนใต้

 30 ส.ค. 2559 16:38 น. | อ่าน 6248
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

     ผ้า เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งในแง่การดำรงชีวิต ที่ต้องใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันร้อนกันหนาว มากกว่านั้น ยังแสดงออกถึงวัฒนธรรมและสถานะทางสังคม เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า วัฒนธรรมผ้าในประเทศไทย มีความหลากหลาย โดดเด่น งดงามแตกต่างกันไป ภาคอีสานโดดเด่นผ้าไหมมัดหมี่ เหนือโดดเด่นซิ่นตีนจก ใต้มีผ้ายกนาหมื่นศรี แต่จะมีคนกี่มากน้อยที่เคยคุ้นกับ วัฒนธรรมการใช้ผ้าของท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทย-มุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน  น่าศึกษาทำความรู้จักถึงความเป็นมาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว
     ผ้าทอของจังหวัดชายแดนใต้ มีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งตามวัสดุที่ใช้ทอ วิธีการทอ วิธีการสร้างลวดลาย หรือวิธีการใช้งาน ในที่นี้เราจะนำเสนอข้อมูล ที่ได้จากการเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ถึงผ้าสองชนิดที่มีความโดดเด่น ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ได้แก่ ผ้าจวนตานี และผ้าปะลางิง

ผ้าจวนตานี จังหวัดปัตตานี

      ผ้าจวนตานี หรือผ้าลีมา เป็นผ้ามัดหมี่โบราณของเมืองปัตตานี ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์ลวดลายการถักทอเฉพาะถิ่น มีความงดงาม สีสันแปลกตา คำว่า จวนตานี ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษามลายู “จูวา-ตานี” มีความหมายว่า ร่อง หรือ ทาง เรียกว่า ล่องจวน
      ผ้าจวนตานี หรือผ้ายกตานี ทอทั้งจากเส้นไหม และเส้นใยฝ้าย ยกด้วยเส้นเงินหรือเส้นทอง ผ้าจวนตานี จะมีแถบริ้วลวดลายวางเป็นแนวแทรกอยู่ระหว่างผืนผ้า และชายผ้าทั้งสองด้าน นับเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ทอยาก มีราคา และใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษ เป็นผ้าคลุมศีรษะ คล้องคอ ใช้นุ่งคาดอกสวมใส่สำหรับผู้หญิง ใช้นุ่งคาดสวมทับด้านบนของกางเกงสำหรับผู้ชาย สีของผืนผ้านิยมใช้สีที่ตัดกัน โดยบริเวณท้องผ้าจะใช้สีหลัก ได้แก่ ม่วง เขียว ฟ้า น้ำตาล ส่วนชายผ้าทั่วไปจะใช้เฉดสีแดง โดยผ้าและชายผ้าทั้งสองด้านทอเป็นผืนผ้าเดียวกัน นอกจากการใช้สีที่ตัดกันแล้ว พบว่าแต่ละแถบของผ้าจวนตานี โดยทั่วไปมีห้าสี ซึ่งคำว่า “ลิมา” ซึ่งเป็นอีกชื่อของผ้าจวนตานี เป็นคำภาษามาเลย์หมายถึง “ห้า”      
      ผ้าจวนตานี เคยสูญหายไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง ครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานวิจัย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ผ้าไหมลีมาสวยงามมาก สมควรที่จะค้นคว้าทดลองต่อไป” ทำให้ผ้าจวนตานี ถูกฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง โดยการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่น ได้รวมกันทอขึ้น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในงานพิธีต่างๆ และเผยแพร่ ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป…

ผ้าปาละงิง จังหวัดยะลา

      ผ้าปะลางิง คือ ผ้าทอมือลายบล็อคไม้ พบเห็นผ้าชนิดนี้ เป็นครั้งแรกในปี พุทธศักราช 2472 ในขบวนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่เสด็จประพาสมณฑลปัตตานี จากนั้นผ้าชนิดนี้ ก็ได้สูญหายไปเกือบ 80 ปี พร้อมกับการเลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสม เนื่องจากฝนตกชุก ขั้นตอนการผลิตผ้าปะลางิง ทำด้วยมือทั้งสิ้น เริ่มจากการทอ การทำบล็อกไม้ การทำลายผ้า และขั้นตอนการพิมพ์ที่ใช้เทียนเป็นวัสดุหลัก ในอดีตการทำบล็อคไม้ สำหรับพิมพ์ผ้าปะลางิง จะเป็นช่างกลุ่มแกะสลัก ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าเป็น ลายด้ามกริช ลายช่องระบายลม ลายประตูลูกกรงที่ปรากฏตามมัสยิด รวมถึงลายดอกสาละ หรือลายเพดานโบสถ์ของศาสนาพุทธ

      นอกจากนี้ จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีสิ่งทอที่หลากหลาย มีทั้งผ้าทอเกาะยอ จ.สงขลา ผ้าทอนราธิวาส ในพระราชดำริ ผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และยังมีการพัฒนาการแปรรูปสิ่งทอ โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งทำงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีการดึงอัตลักษณ์วิถีภาคใต้จาก “ข้าวต้มใบกระพ้อ” สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ พร้อมต่อยอดพัฒนาเส้นใยดาหลาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ หวังยกระดับคุณภาพผลักดันสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนาต่อยอดจากรากวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

ที่มา :
1. รองศาสตราจารย์จุรีรัตน์ บัวแก้วและคณะ, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการย้อมสีธรรมชาติกับวัตถุดิบที่ใช้ทําผ้าจวนตานี - กันยายน 2553
2. http://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=162
3. http://muslim-thti.org

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.