บัณฑิตแรงงาน “สื่อกลาง” เข้าถึงประชาชน จชต.

 16 ส.ค. 2559 23:51 น. | อ่าน 3377
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่ถูกนำมาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้น เป็นแนวทางที่ทรงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างดี ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้น เป็นผู้คนในพื้นที่ เนื่องจาก “ไม่มีใครจะเข้าใจ เข้าถึง และสามารถพัฒนาท้องถิ่น” ได้ยั่งยืนเท่ากับคนในพื้นที่

บริการแรงงาน เข้าถึงง่าย ให้บริการโดยคนในพื้นที่
      กระทรวงแรงงานตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นเป็นอย่างดี ดังนั้นกระทรวงแรงงาน จึงเกิดแนวความคิด ที่ต้องการให้ประชาชนในระดับพื้นที่ ได้รับบริการจากกระทรวงแรงงานอย่างทั่วถึง จึงได้นำบริการเคลื่อนที่จากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงไปให้บริการประชาชนตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสามารถเข้าถึงบริการ จึงได้ใช้เครือข่ายด้านแรงงาน เช่น บัณฑิตแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน เป็นตัวเชื่อมและประสานการให้บริการ ให้คำแนะนำ และประสานข้อมูลด้านแรงงาน ไปยังประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
      จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านแรงงานได้โดยง่าย กระทรวงแรงงาน จึงมีโครงการจ้างบัณฑิตแรงงาน ซึ่งเป็นบุคคลในพื้นที่โดยตรง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ ๔ อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปลายปีงบประมาณพ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์แรงงาน ประจำอำเภอขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานบริการด้านแรงงาน ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และศูนย์กลางข้อมูลด้านแรงงานประจำอำเภอ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ของบัณฑิตแรงงานประจำตำบลภายในอำเภอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการให้บริการด้านแรงงาน แก่ประชาชนในพื้นที่

      ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๕๖ กระทรวงแรงงาน จึงมีแผนขยายการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์แรงงานประจำอำเภอขึ้นให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง ๓๗ อำเภอ (๓๗ ศูนย์) และขอขยายจำนวนจ้างบัณฑิตแรงงานในพื้นที่ การดำเนินโครงการจากเดิม จำนวน ๒๙๔ คน เพิ่มเป็น ๓๘๐ คน เพื่อให้บัณฑิตแรงงานดูแลพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแม้จะยังคงมีปัญหาด้านความปลอดภัยในการดำเนินงาน และการเข้าถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ แต่โครงการก็สามารถนำบริการด้านแรงงานลงสู่หมู่บ้านและตำบลได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ดำเนินการ ตลอดจนสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่อาสาสมัครแรงงาน และนำไปสู่การสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะภารกิจภายใต้โครงการสามารถลดสภาพปัญหาความไม่เข้าใจ และหวาดระแวงของประชาชนในพื้นที่ ไปสู่การเข้าถึงและการพัฒนาได้ สอดคล้องตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ด้วยสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งบัณฑิตแรงงาน น้อมนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน 

บัณฑิตแรงงาน สื่อกลาง สร้างความพร้อมสู่ AEC
      อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญสำหรับบัณฑิตแรงงาน คือ การเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยบัณฑิตแรงงาน จะเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงแรงงานในการนำภารกิจดังกล่าว ไปถ่ายทอดและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบและเข้าใจบทบาทภารกิจของกระทรวงแรงงาน และการเตรียมความรู้ของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากพื้นที่ใน 4 จังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย และมีแรงงานประเทศไทยจำนวนมาก เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ดังนั้น แรงงานเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจด้านแรงงานด้วย เพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเอง ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างทันท่วงที

ความต่อเนื่อง เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ

      พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ปัจจุบันยังมีการจ้างบัณฑิตในพื้นที่ 380 คนเพื่อเป็น "บัณฑิตแรงงาน" ประจำในทุก ๆ พื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงานของส่วนราชการต่างๆ โดยการเข้าไปสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในการทำงานให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งเป็นตัวแทนประชาชน ในการเสนอความต้องการด้านแรงงานต่างๆ ไปยังส่วนกลาง เพื่อให้การบริการ พัฒนา และแก้ปัญหาให้ประชาชนเป็นไปอย่างถูกต้องตรงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ว่างงานที่พร้อมจะทำงาน ผู้ต้องการฝึกอาชีพ ข้อมูลผู้สูงอายุ คนพิการ แรงงานนอกระบบ รวมไปถึงแรงงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ ข้อมูลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากภารกิจหลักของกระทรวงแรงงาน เพื่อที่จะได้ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไปนับได้ว่าในอนาคตอันใกล้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีความเจริญรุ่งเรือง สงบร่มเย็น แม้วันนี้จะมีพวกปลุกกระแสให้เกิดความเห็นต่างก็ตาม
      นับจากจุดเริ่มต้นโครงการ “บัณฑิตแรงงาน” เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ภายใต้แนวคิด “ไม่มีใครจะเข้าใจ เข้าถึง และสามารถพัฒนาท้องถิ่น” โดรงการนี้ได้สร้างสรรค์งาน สร้างสรรค์อาชีพ สร้างสรรค์ความสุข ให้กับพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาได้เป็นที่ประจักษ์ สมกับที่ “บัณฑิตแรงงาน” ถูกกล่าวขานว่าเป็น “บัณฑิตแรงงาน “อัศวิน” ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” อันจะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศชาติ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เกิดแก่จังหวัดชายแดนภาคใต้
แหล่งที่มาข้อมูล
1. เอกสารโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
3. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000079226​

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.