เสริมคุณภาพการศึกษาให้เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วย Digital Technology

 09 ส.ค. 2559 06:32 น. | อ่าน 3926
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy หรือ DE) หมายถึง เศรษฐกิจและสังคม ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (หรือเรียกว่าเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทันยุคสมัย) เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 
      การนำ Digital Technology มาช่วยในการลดข้อจำกัด และเสริมคุณภาพการศึกษา ให้กับเยาวชนของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

Digital Technology ลดอุปสรรคเรื่องระยะทางในพื้นที่ 3 จชต.
      ดร.ศิริชัย นามบุรี อาจารย์ประจำสาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ให้ข้อสรุปในเรื่องการใช้ Digital Technology เพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสถานการณ์ที่มีเวลาจำกัดและความไม่สะดวกในการเดินทางลงนิเทศนักศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา ประมาณ 2 ชั่วโมง  คณะอาจารย์นิเทศ จึงได้นำสื่อสังคมออนไลน์ Google+ ร่วมกับ Google App เช่น Google Slide, Google Doc, Google Drive, Google Blog (Blogger.com)  มาเป็นเครื่องมือจัดการกิจกรรมนิเทศนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ. 5 ปี) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์ศึกษา) ซึ่งจัดการเรียนการสอน โดยสาขาคอมพิวเตอร์ โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 
 

      โดยเฉพาะการใช้ Google+ สร้างชุมชน "ประสบการณ์วิชาชีพครูคอมพิวเตอร์ ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของโรงเรียนหน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู นอกจากนั้นยังเปิดให้นักศึกษาหรือผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมเป็นสมาชิกของชุมชน เพื่อให้ข้อเสนอแนะ หรือแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในชุมชนที่สร้างขึ้น

(https://plus.google.com/u/0/communities/101767141028816696472)

      ทั้งนี้ นักศึกษาได้ใช้ประสบการณ์จากชั้นเรียนและรายวิชา โดยเฉพาะทักษะไอซีที มาปรับประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การเตรียมความพร้อมสำหรับการนิเทศ เป้าหมายเพื่อสร้างครูคอมพิวเตอร์ ที่มีทักษะในการปรับประยุกต์ใช้ไอซีที เพื่อการประกอบวิชาชีพครู ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เสริมทักษะภาษาอังกฤษ รองรับ AEC

      ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ได้กล่าวไว้ว่า หากต้องการให้การศึกษาก้าวล้ำกว่าที่เป็นอยู่ ต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสาร โดยการเรียนต้องไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่เป็นการสื่อสารข้ามสถานที่ข้ามเขตแดน แหล่งความรู้ต้องเชื่อมด้วยเทคโนโลยี
      จากแนวความคิดดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินการประยุกต์ใช้ Digital Technology เพื่อมาเสริมประสิทธิภาพให้กับการศึกษาในหลายๆ โครงการ และหนึ่งในโครงการเหล่านั้น ก็คือ ระบบ "เบรนคลาวด์" ระบบการศึกษาภาษาอังกฤษยุคใหม่ ซึ่งระบบดังกล่าว เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตไร้สาย และ Cloud Computing (ระบบคอมพิวเตอร์แบบหมู่เฆม) ที่สามารถพาครูเจ้าของภาษา ข้ามพรมแดนมาใกล้ชิดกับเด็กนักเรียน กับองค์ความรู้ในการสอน ที่เน้นการศึกษาภาษาในแบบธรรมชาติ คือ เริ่มจาก "ฟัง พูด อ่าน เขียน" โดยได้เริ่มนำร่องไป 3 ปี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายขอบทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาการศึกษา "ภาษาอังกฤษ" ของนักเรียนไทย ที่ต่างต้องเรียน "หนัก" แต่สุดท้ายกลับนำไปใช้ "สื่อสาร" ไม่ได้จริง
      จากการพัฒนา 2 ปี และเริ่มใช้งานจริงมาแล้ว 3 ปี ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้เหตุผลที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็น Digital Technology สามารถทำให้เด็กที่เสียโอกาส เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือชนบท สามารถเรียนรู้ได้ ไม่แพ้เด็กในเมือง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ต้องการครู โดยเฉพาะครูเจ้าของภาษา ซึ่งผลที่ออกมานั้น เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก กล่าวคือ เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะตอบโต้กับครูต่างชาติ หรือครูที่โรงเรียนเอง สองสามอาทิตย์แรก จะเห็นเลยว่า เด็กจะไม่เข้าใจว่าครูพูดอะไร แต่พอเริ่มอาทิตย์ที่สี่ เด็กจะสามารถตอบโต้ได้เอง
      ข้างต้นก็คือ 2 กรณีศึกษาในการประยุกต์ใช้ Digital Technology เพื่อลดข้อจำกัดทางกายภาพ ที่เกิดขึ้นกับการศึกษา ซึ่งการประยุกต์ใช้ มิได้ถูกจำกัดเพียงแค่โรงเรียน แต่สามารถขยายผลได้หลากหลาย ซึ่งการนำ Digital Technology มาประยุกต์ใช้ดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย Digital Thailand และการเปิดตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วย
แหล่งข้อมูล:
1. http://www.mict.go.th
2. http://sirichai.yru.ac.th
3. https://plus.google.com/u/0/communities/101767141028816696472
4. http://www.matichon.co.th/news/238927

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.