พระจันทร์ แดนใต้

 30 ก.ค. 2559 17:46 น. | อ่าน 3529
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      พระจันทร์ ความงดงามอันอบอุ่นในยามค่ำคืน หากไม่ใช่ความอบอุ่นทางกาย แต่เป็นความงดงามที่สร้างความอบอุ่นทางใจให้กับทุกผู้คนบนโลกใบนี้ ถ้าเราจินตนาการว่าเราได้นั่งชมจันทร์ในยามค่ำคืน ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ภาพและ ความรู้สึก ย่อมแตกต่างกันไป  ยิ่งถ้าภาพในจินตนาการมีเสียงดนตรีประกอบไปด้วย ลองคิดว่าถ้าเราได้นั่งชมจันทร์ที่ปัตตานี เสียงดนตรีที่เราจะได้ยินจะเป็นอย่างไร
      ถ้ากล่าวถึงดนตรีของสามจังหวัดชายแดนใต้ นอกจากคำภาษาใต้แล้ว น้อยคนจะรู้จักคุ้นเคยในสำเนียงดนตรี ที่มีความเฉพาะถิ่น จะมีบ้างที่ได้ยินผ่านดนตรีประกอบการร่ายรำ อย่าง รำรองเง็ง ที่เด็กเยาวชนในภาคอื่นๆ อาจจะได้เรียนบ้างในวิชานาฏศิลป์ แต่ก็น่าจะน้อยมาก รองเง็ง มีวัฒนาการมาจากการเต้นรำพื้นเมือง ของชาวสเปน หรือโปรตุเกส ซึ่งนำมาแสดงที่แหลมมลายู เมื่อครั้งที่ได้มาติดต่อทำการค้าในสมัยโบราณ เพลงรองเง็ง มีองค์ประกอบคือ บรรเลงด้วยไวโอลิน แอคคอร์เดียน และแมนโดลิน ส่วนเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะ ได้แก่ รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก ฆ้อง และมาราคัส ที่จังหวัดชายแดนใต้นี่เอง ที่พระจันทร์ ดนตรี และวัฒนธรรม ได้หล่อหลอมให้เกิดความงดงามขึ้นในสังคม คือ สิ่งดีๆ ที่เกิดจากสิบปีแห่งความมุ่งมั่นและทุ่มเท ของครูประชาบาลคนหนึ่ง  ซึ่งดนตรีได้สร้างสิ่งดีๆ ให้แก่เยาวชน ในนาม “อาเนาะบุหลัน ลูกพระจันทร์บรรเลง” เป็นวงดนตรีเยาวชน ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ภาพของเด็กตัวเล็กๆ ที่ถือ แอคคอร์เดี้ยน ไวโอลิน แมนโดลิน บรรเลงดนตรีพื้นบ้านอันไพเราะ จนไปถึงเพลงพระราชนิพนธ์ได้อย่างภาคภูมิ ไม่น่าเชื่อว่า คือนักเรียนโรงเรียนวัดสุวรรณากร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ชื่อโรงเรียนวัด นั่นหมายถึง ศาสนาพุทธ แต่โรงเรียนมีเด็กนักเรียนจากทุกศาสนา เด็กมีเพียงความแตกต่างทางศาสนา แต่ล้วนมีความผูกพัน สามัคคีกลมเกลียว ร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์ดนตรีและการแสดงพื้นเมืองชายแดนใต้ เสน่ห์ของวงอาเนาะบุหลัน คือ เด็กประถมตัวเล็กๆ บรรเลงเป็นดนตรีสด โดยนักดนตรีรุ่นเล็ก แต่เปี่ยมด้วยความตั้งใจ บางครั้งก็มีการแสดงรำพื้นเมือง จากเด็กตัวเล็กๆ นำเสนอมุมหนึ่งที่สวยงามในชายแดนภาคใต้ ดนตรีพื้นเมืองปัตตานี เหมือนกับที่หากเราไปอีสาน จะได้ยินเพลงพิณแคน เสียงโปงลาง ไปภาคเหนือ มีวงสะล้อซอซึง
      ครูขาเดร์ แวเด็ง หรือ "แบกาเดร์" ศิลปินแห่งชาติผู้ขับกล่อมบทเพลงรองเง็งมลายูด้วยไวโอลิน คือ แรงบันดาลใจของ ครูตั้ม วชิรพันธ์ ภู่พงศ์ ผู้ที่อุทิศแรงกายแรงใจในการสอนเด็ก การเรียนการสอนของครู ใช้วิธีการต่อเพลงแบบการเรียนดนตรีไทยดั้งเดิม  โดยเริ่มต้นจากเพลง “ตารีกีปัส” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงระบำพื้นเมืองของทางภาคใต้ ที่ใช้พัดประกอบการแสดง และตามด้วยเพลงอื่นๆ กว่าสามสิบเพลง เพลงเหล่านี้ มีกลิ่นอายของมลายูแดนใต้ แต่เริ่มมีคนที่เล่นได้น้อยลงๆ ทุกที การที่เด็กๆ ได้เล่นเพลงเหล่านี้ ย่อมเป็นโอกาสในการสืบทอดวัฒนธรรมไม่ให้สูญหายไป  เด็กๆ ก็ได้รับการกล่อมเกลาจิตใจ สร้างสมาธิ และมีความผูกพันจากการฝึกซ้อมร่วมกันทุกวัน และมีโอกาสไปเล่นนอกสถานที่ ในงานเล็กงานใหญ่มากมาย เด็กๆ มีทะเลาะกันบ้างตามประสา แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันทั้งเพื่อนพุทธและมุสลิม วงอาเนาะบุหลันปรับเปลี่ยนรุ่นไปเรื่อยๆ ตามเด็ก ป.6 ที่จบไป รุ่นน้องขยับเข้ามาเล่น บางครั้งรุ่นที่พี่จบไป ก็กลับมาช่วยฝึกซ้อม
      “เรากำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ทางดนตรี หน้าที่ คือ หว่านลงไป เมื่อตกลงในดินดี ปุ๋ยดี ต่อไปเมื่อเขาจบออกไปอาจมาเป็นครู หรือมาสอนดนตรี ก็สบายใจว่าเพลงจะไม่จบ ไม่หายไปจากปัตตานี แต่ถ้าวันนี้ไม่มีอะไรเลย คนเก่าหายไป ผมไม่อยู่ เสียดายมาก อยากให้มีนักดนตรีเยอะๆ หลายๆ วง ช่วยกันทำช่วยกันผลิต ผมจินตนาการไปว่า อยากให้มีวัฒนธรรมสร้างคนอย่างยั่งยืน มีคนมาถ่ายทอดเรื่องราวด้านนี้แก่คนรุ่นหลัง”

      ในระยะของการก่อตั้งวง ครูขาดแคลนทั้งเครื่องดนตรีและงบประมาณใช้จ่ายในการแสดง ทุกอย่างครูในโรงเรียนพยายามทำกันเอง เช่น ช่วยกันแต่งหน้าให้นักแสดง  ต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดหาเครื่องดนตรี และเริ่มมีรายได้จากการแสดงนอกสถานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณของโรงเรียน ความสำเร็จของอาเนาะบุหลันนอกจากการได้รับการรู้จักและยอมรับจากสังคมทั่วไป ที่สำคัญเด็กๆ ได้รับความภาคภูมิใจ คือ ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจ จากการที่พระองค์ทรงดนตรี โดยการแสดงดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ ในงานเทิดพระเกียรติ ๕ ธันวามหาราช
      ที่นี่ดนตรี จึงเป็นมากกว่าดนตรี เป็นการสืบทอดเมล็ดพันธุ์ทางวัฒนธรรม  ที่สานต่อบทเพลงพื้นเมืองอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอันเป็นแง่งามของวิถีแห่งปุถุชนเฉกพื้นถิ่นให้คงอยู่  ทำให้เยาวชน ที่เล่นดนตรีเกิดความรัก ความกลมเกลียว และความผูกพันและสร้างสันติสุข ณ แผ่นดินปลายด้ามขวาน
      คืนนี้ ลองหาเวลา นั่งชมพระจันทร์แล้วลองฟังเพลงประกอบกันดูนะคะ จะเพลงคลาสสิค เพลงลูกทุ่ง หมอลำ สะล้อซอซึง หรือเพลงใต้ ทุกเพลงช่วยจรรโลงใจคลายเครียดได้ทั้งนั้น และยังช่วยให้เราเข้าใจเพื่อนร่วมชาติของเรา ผ่านความงามทางวัฒนธรรมได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

ที่มา :  http://www.oknation.net/blog/bulan
สารคดีรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน อาเนาะบุหลัน วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2556
สารคดีจารึกไว้ในแผ่นดิน ตอน อาเนาะบุหลัน ลูกพระจันทร์บรรเลง วันที่ 27 กันยายน 2558

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.