สื่อพหุภาษา โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

 22 ธ.ค. 2560 22:54 น. | อ่าน 4908
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ปัจจุบันการนำเสนอข่าวสารต่างๆ ในสื่อกระแสหลัก เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่คนส่วนใหญ่ได้ผ่านหูผ่านตาและเป็นที่จดจำ มักจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงและเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นส่วนมากมีน้อยมาก  ที่จะนำเสนอเรื่องวัฒนธรรม อัตลักษณ์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิถีชีวิตและสวัสดิภาพของคนในพื้นที่  จึงเป็นภารกิจของคนในพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารอัตลักษณ์เหล่านี้ออกมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนภายนอกพื้นที่เข้าใจ อัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง
      ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalism School: DSJ)โครงการภายใต้ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) จึงเกิดขึ้นก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ด้วยเป้าหมายหลัก  2 ประการ ประการแรก ได้แก่ การรายงานข่าวสถานการณ์จากพื้นที่ ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้าใจให้กับคนนอกพื้นที่ด้วย  ประการที่สองที่เป็นหัวใจหลักได้แก่ การผลิตนักข่าวซึ่งเป็นคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถใช้เครื่องมือ ได้แก่ ภาษาเพื่อสร้างความเข้าใจ และสันติภาพ  เพราะภาษาคือตัวแทนของอัตลักษณ์   กลุ่มชน และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้สังคมอื่นเข้าใจข้อเท็จจริงจากพื้นที่โดยคนในพื้นที่เอง  ออกสู่ความรับรู้ของสังคมภายนอกโดยยึดถือหลักการและจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชนเป็นสำคัญเพื่อนำสันติสุขกลับคืนสู่แผ่นดินชายแดนภาคใต้ต่อไป

3 ภาษา 4 ตัวอักษร

      ภาษาหลักที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ภาษาไทยและภาษามลายู ซึ่งภาษามลายูยังสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท ได้แก่ ภาษามลายู อักษรยาวีหรือตัวอักษรอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่คนในพื้นที่ใช้กันเป็นหลัก เป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ต้องรักษาไว้ และยังเป็นภาษาที่ทำให้คนในพื้นที่สามารถสื่อสารเรื่องราวของตัวเองออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกประเภทหนึ่งได้แก่ ภาษามลายู อักษรรูมีหรือโรมัน ที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงใช้กัน นอกจากนี้ยังมีภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสื่อสารให้สังคมในระดับสากล ทุกภาษาล้วนมีความสำคัญ การนำเสนอข่าวของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้จึงเน้นการสื่อสารในหลายภาษา นำเสนอข่าวในรูปแบบ 3 ภาษา 4 ตัวอักษร โดยหนุนเสริมให้คนในพื้นที่ได้สื่อสารเรื่องราวของตนเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชุมชน กิจกรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเยาวชนก็สามารถนำเสนอประเด็นข่าวมาได้ แม้มีทักษะการสื่อสารทางภาษาที่แตกต่างกันไป

โครงการนักข่าว 4 ภาษา

      โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้เริ่มต้นโครงการนักข่าว 4 ภาษา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 อบรมเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ เยาวชนในพื้นที่ที่สนใจในการทำข่าวและอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีการอบรมให้ความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยจะให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาและการสื่อสาร เริ่มจากความสำคัญของภาษามลายู และก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ทักษะการเขียนข่าวและจรรยาบรรณของการเป็นสื่อมวลชน การนำเสนอข้อเท็จจริงโดยการทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ เมื่อนำมาเขียนข่าว จะคิดประเด็นในการนำเสนอข่าวอย่างไร การสื่อสารในเชิงบวกและการนำเสนอข่าวผ่านอัตลักษณ์ของพื้นที่ จนไปถึงงานภาคปฏิบัติ อย่างทักษะการถ่ายภาพ การนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ มีกิจกรรมผลิตสื่อภาษามลายูทั้งในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อเว็บไซต์ ซึ่งกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราวดีดีจากชุมชนของตนเอง และมุมมองจากสิ่งที่ได้พบเห็นมากมายพร้อมจะสื่อสารออกมา ทำให้คนนอกพื้นที่ได้มองเห็นอีกมุมมองที่เป็นเรื่องราวดีดี

ลงสนามจริง

      เมื่อเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนักข่าว 4 ภาษาผ่านการอบรมด้านทฤษฎีมาแล้ว ก็ถึงเวลาจะต้องนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในสถานการณ์จริงผ่านหัวข้อที่วิทยากรกำหนดคือหัวข้อ “พหุวัฒนธรรม” เยาวชนจะต้องลงพื้นที่จริงเพื่อหาประเด็นมาทำการนำเสนอ ได้สัมภาษณ์ทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในพื้นที่ ในเรื่องความคิดความรู้สึกที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนใต้ และนำมาสรุปประเด็นเพื่อนำเสนอข่าว โดยนอกจากจะใช้เทคนิคในการนำเสนอข่าวตามที่ได้รับการอบรมมาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องยึดปฏิบัติคือ จรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่ดี คือการนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริงโดยไม่ทำให้สังคมแตกแยก  ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เสริมเติมแต่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

สื่อสารผ่านอัตลักษณ์ท้องถิ่น

      สิ่งสำคัญในการสื่อสารคือความเข้าใจที่ถูกต้อง ปัญหาความเข้าใจที่บิดเบือนอย่างที่เห็นผ่านสื่อกระแสหลัก นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ไม่จบสิ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต่างเรื่องภาษาที่ใช้ โครงการนักข่าว 4 ภาษา จึงใช้การสื่อสารเผยแพร่หลายภาษาต่อกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันให้มีความเข้าใจตรงกัน จึงเป็นหัวใจหลักที่จะสามารถลดความเข้าใจผิดความขัดแย้งลงได้ เป็นแนวทางสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ชาวบ้านได้อ่านภาษายาวี คนไทยนอกพื้นที่ได้อ่านภาษาไทย ชาวต่างชาติได้อ่านภาษาอังกฤษ ล้วนแล้วแต่ได้รับรู้แง่มุมดีๆ ของพื้นที่  เปิดโลกทัศน์ให้เข้าใจสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนในพื้นที่ก็ได้นำเสนอเรื่องราวของตนเองผ่านอัตลักษณ์ของตนเอง คือ ภาษาถิ่นที่คุ้นเคย

สื่อสารสู่สันติภาพ

      นอกจากโครงการนักข่าว 4 ภาษาสำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษาแล้วยังมีกิจกรรมอบรมสำหรับเยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุมัธยมปลาย คือ โครงการอบรมนักสื่อสารสันติภาพเยาวชน GenPeaceReporter อบรมเข้มทั้งการถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอและเสริมเนื้อหาเข้มข้นทั้งเรื่องสิทธิเด็กแง่มุมต่างๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการสื่อสารโดยคนนอกพื้นที่น้อยมาก นักข่าวเยาวชนน้อยใหญ่เหล่านี้เองจะเป็นผู้ที่จะทำให้คนภายนอกได้เข้าใจและรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากขึ้น โดยนำเสนอตัวตน อัตลักษณ์ ความคิดเห็นของคนในพื้นที่ได้ปรากฏในพื้นที่สื่อได้มากขึ้น เมื่อข้อเสนอได้รับการรับฟัง นำไปแก้ปัญหาได้จริง คนแต่ละฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน หนุนเสริมให้เกิดกระบวนการสร้างสันติภาพ และนำสันติสุขที่แท้จริงให้เกิดขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.