ยุวเกษตรกรบ้านบาลูกา เยาวชนในวิถีพอเพียง

 21 ส.ค. 2560 22:30 น. | อ่าน 4554
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

 “ยุวเกษตรกรของไทย    ส่งเสริมให้มีอาชีพทุกๆ คน

ฝึกผองเหล่าเยาวชน                  ให้ขุดค้นแหล่งทรัพยากร

ผืนดินไทยอุดมด้วยที่ทำกิน         ทรัพย์ในดินมากมายจงอย่างนิ่งนอน

รวมแรงใจ ผดุงไว้ให้บวร ทรัพยากรเกษตรกรของไทย

กาย แกร่ง แข็ง ใจคงมั่น  มือ ถากถางไป

รวม เหล่า หญิงชาย รวมใจ         ฟันฝ่าผจญ...”
      นี่คือเสียงร้องเพลงมาร์ชยุวเกษตรกรที่ดังอย่างพร้อมเพรียงในการเริ่มต้นประชุมสภายุวเกษตรกรประจำตำบลกะรุบี อ.กะพ้อ จังหวัดปัตตานี “ยุวเกษตรกร” หมายถึง เยาวชน อายุ 10 - 25 ปี ที่สนใจการเกษตร รวมตัวกันในระดับหมู่บ้าน ขอจัดตั้งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรต่อสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด เพื่อรับบริการความรู้วิชาการเกษตรและเคหกิจเกษตร จากโครงการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการอบรมความรู้ที่เหมาะสมกับอาชีพการเกษตรในท้องถิ่น การรวมตัวกันของเยาวชนแตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่
รวมตัวกันเพื่อสร้างโอกาสดีๆ ให้กับชีวิต และชุมชน
      ที่บ้านบาลูกา ตำบลกะรุบี อ.กะพ้อ จังหวัดปัตตานี  มีการรวมตัวกลุ่มเยาวชนนอกระบบ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับการศึกษาตามระบบปกติ มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาชีพ โดยปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มยุวเกษตรกรบ้านบาลูกา จึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  เริ่มจากผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญของเยาวชน เกิดการรวมตัวกันพูดคุย ปรึกษาหารือกัน คิดร่วมกันระหว่างเยาวชนด้วยกัน และระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ชุมชนว่า คิดว่าจะทำอะไรให้กับชุมชนดี โดยมุ่งเน้นไปที่เยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือเยาวชนนอกระบบ ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบ้านพิราบขาว ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเยาวชนนอกระบบ เมื่อร่วมกันคิดค้นถึงทุนทางทรัพยากรของบ้านบาลูกา พบว่า ในหมู่บ้านมีวัตถุดิบในชุมชนที่มีมาก คือ ไม้ไผ่ จึงเริ่มต้นด้วยกันทดลองทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ โดยในช่วงเริ่มแรก ชาวบ้านให้การสนับสนุนไม้ไผ่ โดยไม่คิดมูลค่า ได้มาทำแคร่ไม้ไผ่ โต๊ะ เก้าอี้ และเกิดการพัฒนาฝีมือและชนิดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเรียนรู้คนเดียวมาสู่การเป็นกลุ่ม ขยายสู่การสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัว

จากกลุ่มเล็ก ขยายผลสู่วงกว้าง
      จากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ผ่านการเรียนรู้ ลงมือทำ ร่วมกันเผชิญปัญหาและอุปสรรค ร่วมกันขับเคลื่อนกลุ่ม จากเพื่อนชวนเพื่อนมาร่วมกลุ่ม ปัจจุบัน มีสมาชิกร่วม 40 คน ดำเนินการมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น สมาชิกดั้งเดิมสามารถเป็นวิทยากร ที่ปรึกษาให้กับน้องรุ่นใหม่ๆ ได้ และยังคงวัตถุประสงค์หลัก คือ สมาชิกกลุ่มสามารถเรียนรู้การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ สามารถขยายสู่ครอบครัวของตนเอง ปลูกเองกินเองเป็นหลัก ที่เหลือแบ่งปันและขายสร้างรายได้ให้กับตัวเอง การนำเยาวชนนอกระบบมารวมกลุ่มสร้างอาชีพ ต้องอาศัยจิตวิทยาในการสร้างความเชื่อมั่น ควบคู่กับการให้ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ในการหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ทางกลุ่มจะมีกิจกรรม เพื่อให้เกิดกระบวนการแบ่งงานกันทำ แบ่งหน้าที่ โดยเยาวชนสามารถขับเคลื่อนงานได้ ในสายตาผู้ใหญ่ บางคนมองว่า เยาวชนเป็นตัวปัญหา แต่ที่สำคัญ คือ พวกเขารู้ตัวเองดีว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อกลุ่มและชุมชนของตนนั่นเอง
ต่อยอดสร้างประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชน

      กิจกรรมของกลุ่ม นอกจากการทำงานหัตถกรรมไม้ไผ่แล้ว ยังต่อยอดด้านการเกษตร เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนบาลูกามาเป็นเวลานาน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม และเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง มีทั้งการปลูกต้นมะนาวใส่ท่อซีเมนต์ โดยแจกจ่ายต้นพันธุ์ให้ครัวเรือนสมาชิก คนละ 2 ต้น รับซื้อผลผลิตจากสมาชิก กก.ละ 80 บาท การปลูกผักสวนครัว การหมักปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง การเพาะชำต้นมะพร้าวน้ำหอม การเพาะเห็ด และยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ซึ่งสามารถลดต้นทุน โดยนำเอาวัตถุดิบในชุมชนมาเป็นอาหาร เช่น สาคู ลำไผ่อ่อน ปลายข้าว
ผสมผสานความรู้ และประสบการณ์ระหว่างวัย
      นอกจากนี้ แม้เยาวชนจะมีพลังเข้มแข็งเพียงใด ก็ยังอาศัยความรู้และประสบการณ์ทำงานจากผู้ใหญ่ ซึ่งมีผู้สนับสนุนทั้งให้ข้อมูล ปัจจัยการผลิตและดำเนินความสะดวกด้านต่างๆ ทำให้เยาวชนมีความมั่นใจในหนทางที่เลือกก้าวเดิน การสนับสนุนให้เยาวชนอยู่ในกรอบ ต้องอาศัยรุ่นพี่ ผู้นำในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นถิ่น และหน่วยงานราชการ ที่ส่งเสริมและให้กำลังใจให้กลุ่มได้เรียนรู้ส่วนใหม่ ๆ ได้พัฒนาและเกิดความยั่งยืน ได้เรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด สิ่งที่น่าชื่นชม คือ การที่ผู้นำชุมชน นายต่วนซาการียา ตงคอเมา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรด้านการบริหารกลุ่ม ได้มุ่งมั่นมาตั้งแต่ต้น ในการช่วยเหลือเยาวชนที่เคว้งคว้างมองไม่เห็นอนาคต กลับมาสู่แนวทางที่สดใส ขยันทำงาน มีความอดทน ประหยัดอดออม และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนกลุ่มอื่นๆ ได้ นอกจากผู้นำชุมชนและรุ่นพี่ที่เป็นที่ปรึกษาแล้ว ยังมีหน่วยราชการที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สปก.อำเภอ สำนักงานเกษตร สำนักงานปศุสัตว์ และยังมีตำรวจตำบลกับปลัดตำบลมาช่วยดูแล ให้ความรู้ด้านต่างๆ


น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      
แม้ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ เป็นสินค้าหลักที่สร้างรายได้ ทำให้ทุกคนมีอาชีพ แต่พวกเขาตระหนักดีว่า ความสำเร็จอย่างยั่งยืน มิได้มาจากการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมองหาวิธีการลดรายจ่าย โดยการทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ของตนเอง จึงเป็นที่มาของการเป็นยุวเกษตรกรของกลุ่มนี้ และก้าวขึ้นไปสู่การเป็น
ยุวเกษตรกรดีเด่น ระดับเขต ในปี พ.ศ. 2558 เพราะการให้ความสำคัญกับการเกษตรและมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง มีการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เป็นการสร้างพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของการปลูกพืชที่เหมาะสมตามบริบทของชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จนสามารถเปลี่ยนชีวิตและบทบาทของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำให้กับคนในชุมชนได้

      นายต่วนซาการียา ตงคอเมา ผู้ใหญ่บ้าน ให้คำตอบว่า ทำไมต้องทำเกษตร ทั้งที่เป็นงานหนัก ทนร้อน ทนฝน เพราะเกษตรเป็นปัจจัยหลักของชุมชน ทักษะและความรู้ของยุวเกษตรกรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะติดตัวเยาวชนไปตลอด แม้ไม่ได้อยู่กับกลุ่มแล้ว วันหนึ่งวันใด พวกเขาสามารถนำไปในการประกอบอาชีพ แต่หัวใจหลักที่กลุ่มมุ่งเน้น คือ สิ่งที่สำคัญคืออยากกินอะไรปลูกอันนั้น และได้เรียนรู้จากการทำสิ่งนั้น มีเหลือก็แบ่งปันหรือขาย มีพื้นที่เล็กๆ รั้วบ้านก็ทำได้ เช่น ปลูกมะนาวสัก 2 ต้น ปลูกผักตามรั้วบ้าน สามารถทำปุ๋ยหมักให้ที่บ้านใช้ได้ ปลูกเอง ทำเอง สามารถกินเองได้  เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา การปลูกมะพร้าวน้ำหอม และที่สำคัญคือเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น

      นายมะยือลัน เงาะ ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรด้านการผลิตพืช มองว่า การทำเกษตรเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ได้ศึกษาหาความรู้ เขาทำเกษตรในพื้นที่ 2 ไร่ แต่ก่อนใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมีในการทำเกษตร ต่อมาได้มีโอกาสไปดูงานและอบรมจากหน่วยงานเกษตรอำเภอ ได้รู้จักการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ก็หยุดใช้เคมี ทำปุ๋ยเอง สามารถลดรายจ่าย รายได้เพิ่ม เศรษฐกิจพอเพียง คือ การพอประมาณ ก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องๆ
      นายซามิลี อายุ 30 ปี ใช้พื้นที่ในบ้าน ทำเรือนเพาะชำมะพร้าวน้ำหอม ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาตามหลักเกษตรอินทรีย์และพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินไม่ทันก็แจก หรือส่งตลาดสายบุรี ทำทุกอย่างที่ทำได้ ใช้ทุกอย่างที่ทำ
      การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีหลักที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะคนที่จะรู้ปัญหาและรายละเอียดได้ดี คือ คนในพื้นที่ เยาวชน คือ อนาคตของสังคม ทุกภาคส่วน ควรให้ความสำคัญ การทำเกษตรพอเพียง ทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องไปทำงานนอกพื้นที่ กลุ่มยุวเกษตรกร ทำให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ได้เรียนรู้อาชีพที่นำไปประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ สังคมก็ได้รับเยาวชนกลับคืน และเมื่อพวกเขาเยาวชนมองเห็นแสงสว่างในตัวเองแล้ว พวกเขาก็ย่อมสามารถจะเป็นผู้จุดแสงสว่างให้กับเยาวชนด้วยกัน ให้ก้าวเดินไปในเส้นทางที่ดีได้เช่นเดียวกัน และนี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ ได้วางรากฐานการแก้ไขปัญหาไว้อย่างดีแล้ว ขึ้นอยู่กับพสกนิกรจะน้อมนำหลักปรัชญานี้มาใช้ได้ดีเพียงใด
 

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.